นำส่งภาษี 47,600 ล้านบาท ‘ปตท. สผ.’ ติดตั้งแท่นขุดเจาะก๊าซ เพิ่มกำลังการผลิต ผลประกอบการ 9 เดือน ราคาขายลดลง 10% แต่ต้นทุนต่อหน่วยเท่าเดิม
27 ต.ค. 66 นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยผลการดำเนินกิจการในรอบ 9 เดือนของ ปตท.สผ. ปี 2566
โดยได้ดำเนินการเจาะหลุมผลิตและติดตั้งแท่นผลิตใหม่เพิ่มเติมในโครงการจี 1/61 ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 รวมทั้ง เพิ่มการผลิตก๊าซฯ ในโครงการอาทิตย์ที่อัตราประมาณ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณขายก๊าซฯ ตามสัญญา เพื่อสนองตอบต่อแนวทางของภาครัฐในการลดผลกระทบด้านต้นทุนพลังงานให้กับประชาชน
สำหรับผลประกอบการในรอบ 9 เดือนของปีนี้ ปตท.สผ. มีรายได้รวม 6,646 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 229,345 ล้านบาท) และมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 457,737 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ย ลดลงประมาณร้อยละ 10 มาอยู่ที่ 48.14 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
อย่างไรก็ตาม รายจ่ายในรอบ 9 เดือนลดลง ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 1,694 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 58,422 ล้านบาท) โดยยังคงรักษาต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ไว้ที่ 27.23 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ร้อยละ 74
สามารถนำส่งรายได้ให้กับรัฐ ซึ่งอยู่ในรูปภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง โบนัสการผลิต และผลประโยชน์อื่น ๆ ประมาณ 47,600 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
ด้านความคืบหน้าการลงทุนในธุรกิจใหม่ ปตท.สผ. ได้ขยายความร่วมมือกับโพสโค โฮลดิ้งส์ (POSCO Holdings) บริษัทผู้ผลิตเหล็กชั้นนำในเกาหลีใต้ ในการหาโอกาสการลงทุนโครงการผลิตบลูไฮโดรเจนและกรีนไฮโดรเจนแบบครบวงจร รวมถึง โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) จากก่อนหน้านี้ที่ได้ร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในประเทศโอมาน
ขณะที่บริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FTEV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาด ได้เริ่มผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “ลานแสงอรุณ” เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมที่โครงการเอส 1 ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ปตท.สผ. ยังได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมประมง เพื่อศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหินแร่ และนำไปใช้เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปะการังเทียม ที่ใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ และช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินโครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ ศึกษา พัฒนางานวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาธรณีศาสตร์ และวิศวกรรมปิโตรเลียม ให้กับอุตสาหกรรมพลังงาน
ซึ่งเป็นการสนับสนุนประเทศไทยทั้งการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) เพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปพร้อมกันอีกด้วย