
สธ. เร่งดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดเสี่ยงก่อความรุนแรง สั่งเปิดโรงพยาบาลธัญญารักษ์ให้ครบทุกจังหวัดเร็วที่สุด พร้อมผลักดันการดูแลผู้ป่วยแบบ Home Ward ให้เป็นรูปธรรม
สธ.เห็นชอบใช้แนวทาง SMI-V ดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง นำร่อง 30 จังหวัด ก่อนขยายให้ครบทุกจังหวัด และเร่งเปิดโรงพยาบาลธัญญารักษ์ให้ครบทุกจังหวัดเร็วที่สุด
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เปิดปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ระยะเร่งด่วน 3 เดือนนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการระบบบำบัด ฟื้นฟู ติดตามผู้ติดยาเสพติด ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ เข้าร่วมประชุม
โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยมีการสำรวจและเร่งรัดจัดตั้งศูนย์คัดกรองในตำบลแล้ว 9,473 แห่ง แบ่งเป็น สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 6,596 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2,877 แห่ง มีสถานพยาบาลยาเสพติดอีก 1,079 แห่ง ที่ดำเนินงานแบบบูรณาการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (CBTx) ครอบคลุม 659 ชุมชน และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในชุมชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 1,185 แห่ง
นอกจากนี้ ยังขยายการเปิดหอผู้ป่วยในจิตเวชในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุมทุกจังหวัด รวมโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต เป็น 5,435 เตียง ส่วนการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน ผ่านการประเมิน 91 แห่ง รอการประเมิน 326 แห่ง รวมถึงให้การสนับสนุนจัดตั้งสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกับภาคีเครือข่ายในทุกจังหวัดทั้งหมด 146 แห่ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบใน 3 ประเด็น คือ
1.การดำเนินการของสถานพยาบาล สังกัดกรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิต ให้บูรณาการรับส่งต่อผู้ป่วยยาเสพติดในกลุ่มที่ยุ่งยากซับซ้อน มีภาวะแทรกซ้อนทางกายและทางจิตที่ไม่รุนแรง แบบไร้รอยต่อ แบ่งเขตความรับผิดชอบและสนับสนุนเครือข่ายเขตสุขภาพ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรึกษา (Tele Consult) แพทย์และพยาบาล พร้อมรับส่งต่อผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง และเร่งเปิดโรงพยาบาลธัญญารักษ์ให้ครบทุกจังหวัดเร็วที่สุด เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
นอกจากนี้ ให้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อเพิ่มพูนทักษะอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ได้เปิดฝึกอบรม 11 หลักสูตร และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง อีก 8 หลักสูตร
2.ใช้แนวทาง SMI-V ดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง ให้สามารถอยู่ในชุมชนได้ ไม่ป่วยและไม่ก่อความรุนแรงซ้ำ นำร่องในพื้นที่ 30 จังหวัด และเร่งขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีแนวทางการส่งต่อที่ชัดเจน และสถานพยาบาลสามารถรองรับได้ครบทุกจังหวัด
3.ผลักดันให้มีการใช้แนวทางดูแลผู้ป่วยที่บ้าน Home Ward ในกลุ่มผู้ป่วยนอกที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดแต่ไม่สามารถนอนโรงพยาบาลได้ เพื่อให้ครอบครัวมีส่วนร่วมดูแล ช่วยให้ญาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการนอนโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยได้รับการดูแลผ่าน DMS Tel-med ทางโทรศัพท์/แอปพลิเคชัน ซึ่งจะมีแพทย์และพยาบาลจาก สบยช. และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องทุกวัน
#TheStructureNews
#ผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด #สาธารณสุข
ปราบบัญชีม้า แบบตัดไฟแต่ต้นลม ‘สมาคมธนาคาร’ ตอบรับมาตรการปราบบัญชีม้าของ ‘ธปท.’ หากพบบัญชีต้องสงสัยให้ระงับการทำธุรกรรมไว้ก่อน
CHAYANNA SILK ‘ผ้าไหมไทย’ แบรนด์แรกและแบรนด์เดียว บนเวที Indonesia Fashion week 2024
ลดเกณฑ์จัดเทศกาล ภาพยนตร์ระหว่างประเทศ ‘สุริยะ’ ปรับเกณฑ์การส่งเสริมถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม