“อาการโหยหาอดีตเทียม” เครื่องมือสำคัญในสงครามสื่อมวลชน ที่ประชาชนต้องรู้เท่าทัน
เราทุกคนล้วนแล้วแต่เคยมีช่วงเวลาที่สวยงามในอดีต ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งสะสมเรื่องราวเอาไว้มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์เกี่ยวกับความรัก หรือความสำเร็จที่หอมหวาน และยังถูกกระตุ้นให้นึกถึงได้เสมอเมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบให้คิดถึงมัน เช่น สถานที่ที่เคยไปออกเดตอันน่าประทับใจ หรือ คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับภาพในอดีต เช่นขนมที่เคยกินในวัยเด็ก สติ๊กเกอร์สมุดภาพการ์ตูนเรื่องโปรดของเรา
นี่คือเรื่องปกติ เพราะทุกคนล้วนมีความทรงจำ และมันจะกลายเป็นอารมณ์ที่สุดแสนจะดื่มด่ำ เมื่อได้ฟังใครบางคนกำลังเล่าถึงอดีตของเขาที่เราเองก็เคยมีประสบการณ์เช่นนั้น จนเราอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแบ่งปันประสบการณ์เช่นนั้นบ้าง
แต่ในปัจจุบัน กลับมีกระแสใหม่เกิดขึ้น เมื่อเรื่องราวในอดีตเหล่านั้น กลับได้รับการถ่ายทอดโดยคนที่เกิดไม่ทันในยุคนั้น หรือไม่เคยมีประสบการณ์ หรือมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์นั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2475 หรือ เรื่องราวในอดีตของโรงภาพยนต์สกาล่าที่ปิดตัวลงไปแล้ว โดยเล่าตามจินตนาการของผู้เล่าเอง จนผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์
อาการลักษณะนี้ ทางจิตวิทยาเรียกกันว่า “อาการโหยหาอดีตเทียม” (Protonostalgia/ Pseudo Nostalgia) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากชื่อแล้ว น่าจะเหมือนเป็นอาการที่แยกย่อยออกมาจาก “อาการโหยหาอดีต” (Nostalgia) แต่ในความเป็นจริง กลับเป็นอาการที่แยกย่อยออกมาจาก “อาการเพ้อฝัน” (Romanticize) เนื่องจากอาการโหยหาอดีตนั้น เป็นกระบวนการทางจิต ที่สมองดึงเอาความทรงจำเก่า ๆ ที่เคยเกิดขึ้นจริงมาใช้ในกระบวนการทางจิต แต่อาการโหยหาอดีตเทียมนั้น กลับเป็นเพียงความเพ้อฝันของใครบางคนบนเศษเสี้ยวของข้อเท็จจริง
—
ความเพ้อฝันในแง่มุมของพุทธศาสนา มีมูลเหตุมาจากกิเลสฟุ้งซ่าน เป็นตัวทำลายสมาธิ ทำให้จิตไม่จดจ่ออยู่กับความเป็นจริง แต่หากนำมาปะติดปะต่อให้ดี มันจะกลายเป็นจินตนาการ ซึ่งบรรดาจิตรกร นักดนตรี คีตกวี หรือนักแต่งนิยาย ล้วนแต่นำกิเลสตัวนี้มาก่อให้เกิดประโยชน์จนใช้งานได้ กลายเป็น Soft Power ที่ทรงพลัง
วรรณกรรมแนวย้อนอดีตต่าง ๆ อาทิ บุพเพสันนิวาส, ทวิภพ, แดจังกึม หรือ เจาะเวลาหาจิ๋นซี เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้ประโยชน์จาก “อาการโหยหาอดีตเทียม” ในการแต่งเรื่องราวที่ไม่มีอยู่จริงให้วางซ้อนทับลงไปบนเรื่องราวที่มีอยู่จริงได้ โดยความสนุกและความตื่นเต้นของวรรณกรรมเหล่านี้อยู่ที่ความแนบเนียนที่ทำให้ผู้อ่านลุ้นระทึก ถึงแม้ว่าผู้อ่านจะรู้ดีอยู่แล้วว่าเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ดำเนินไปอย่างไร
แต่ก็ใช่ว่าเรื่องแต่งทำนองนี้จะได้ผลดีเสมอไป เนื่องจากอารมณ์ร่วมของผู้คนมีความทรงจำเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าหากเนื้อเรื่องเหล่านั้นขัดแย้งกับความทรงจำของผู้รับสารอย่างรุนแรง จะก่อให้เกิดความรู้สึกต่อต้านอย่างที่ผู้กำกับภาพยนตร์ท่านหนึ่งพูดถึงโรงหนังสกาล่าในภาพที่ขัดแย้งกับความทรงจำของผู้คน จนเกิดกระแสตีกลับมา
ในด้านการตลาด มีสุรายี่ห้อหนึ่งใช้ประโยชน์จาก “การสร้างอดีตเทียม” ด้วยการสร้างโฆษณา สร้างภาพลักษณ์ของสินค้าให้ดูเหมือนเป็นยี่ห้อเก่าแก่อายุนับร้อยปี ทั้ง ๆ ที่บริษัทเพิ่งก่อตั้งมาไม่กี่สิบปี ทั้งนี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดูน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค โดยอาศัยชุดความคิดของผู้บริโภคว่า “สุรา ยิ่งเก่า ยิ่งดี” มาใช้ประโยชน์ เรียกปรากฎการณ์ในลักษณะนี้ว่า “ความคิดถึงแทน” (Vicarious Nostalgia)
ในทางการเมือง ปรากฎการณ์ “โหยหาอดีตเทียม” สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในสงครามสื่อมวลชน (Air War) โดยมุ่งสร้างภาพให้ประชาชนเกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันกับอดีตที่หอมหวาน เพื่อสร้างความรู้สึกว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่มีความมั่นคง ด้อยประสิทธิภาพ และน่ากังวลมากกว่าที่ควรจะเป็น
—
ไม่ว่ารากเหง้าของการโหยหาอดีตเทียม หรือความเพ้อฝัน จะมาจากกิเลสของคนหรืออะไรก็แล้วแต่ อย่างไรก็ดีทุกสิ่งล้วนแต่มีประโยชน์และโทษในตัวของมันเอง ขึ้นอยู่กับเราว่าจะมีสติยั้งคิด และเลือกใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร
แน่นอน มีกลุ่มอาชีพหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากอาการเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง และบางกลุ่มนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการชักจูง หลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ ผ่านการใช้สื่อต่าง ๆ ในลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation: IO)
ประชาชนอย่างเรา ๆ พึงมีสติ ควรรู้จักแยกแยะกลั่นกรองข่าวสาร และอยู่กับความเป็นจริง เพื่อปกป้องตนเองและคนรอบข้างจากโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่หวังดี
“อย่าเชื่อเพียงเพราะเราอยากจะเชื่อ หรืออย่าเชื่อเพียงเพราะมันดูน่าเชื่อ” นี่คือส่วนหนึ่งของ “กาลามสูตร” ที่เป็นจริงและเป็นสัจธรรมเที่ยงแท้ตลอดกาล
# TheStructureArticle
#อาการโหยหาอดีตเทียม #สงครามสื่อมวลชน
อ้างอิง
– A Day, “วันวานที่เพิ่งสร้างใหม่ ‘newstalgia’ ปรากฏการณ์สร้างอดีตขึ้นใหม่ให้เราตายใจว่ามันเก่า”,
– The Matter, “อดีตอาจไม่ได้สวยงามเสมอไป อย่าให้ข้อมูลที่ไม่รอบด้านมาลวงตาคุณ”,
– Wikipedia, “Nostalgia”,
– CONSTANTINE SEDIKIDES & TIM WILDSCHUT & CLAY ROUTLEDGE AND JAMIE ARNDT, “Nostalgia counteracts self-discontinuity and restores self-continuity”, European Journal of Social Psychology, Eur. J. Soc. Psychol. 45, 52–61 (2015),
แนวคิดนโยบายกำจัดขยะของกรุงเทพมหานคร ที่มีประสิทธิภาพ และนำไปปฏิบัติได้จริง
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม