“อัตราค่าแรงขั้นต่ำ” เครื่องมือที่ลดความเหลื่อมล้ำหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม
อัตราค่าแรงขั้นต่ำถูกกล่าวถึงในสังคมวงกว้าง บ้างก็ว่าควรได้รับการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคเศรษฐกิจมากขึ้น บ้างก็ว่าควรคงอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่คงเดิมหรือทยอยปรับขึ้นตามความเหมาะสม เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจมีเวลาในการปรับตัวและไม่ทำให้ทุกฝ่ายลำบากมากเกินไป บ้างก็ว่าควรยกเลิกอัตราค่าแรงขั้นต่ำไปเลย เพื่อให้กลไกตลาดแรงงานได้ทำงานเต็มที่และส่งเสริมประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจโดยปลอดการแทรกแซงจากรัฐ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ คือ คือมุมมองคร่าว ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่ข้อถกเถียงนี้เกิดขึ้นในแทบทุกประเทศ ที่อัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นเครื่องมือทางนโยบายสำคัญของภาครัฐที่มีวัตถุประสงค์คร่าว ๆ ในการกำหนดกรอบขั้นต่ำของการจ่ายค่าจ้างไม่ให้ต่ำเกินไป และส่งเสริมให้แรงงานมีรายได้มากขึ้น ซึ่งแทบทุกประเทศต่างก็มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ยกเว้นประเทศสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และสิงค์โปร์ ที่ไม่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ
โดยกลุ่มที่เชื่อมั่นในกลไกตลาดอย่างเต็มที่นั้น มักจะต่อต้านการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำโดยสิ้นเชิง และมองว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำคือการกำหนดมูลค่าเทียม แทนที่จะใช้กลไกตลาดในการตกลงมูลค่าที่แท้จริง ซึ่งส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงขึ้น จากการที่ความต้องการจ้างงานมีน้อยลง หรือมีการใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการบีบบังคับให้แรงงานจำใจต้องเร่งพัฒนาทักษะของตนเอง เพื่อให้เข้าถึงตำแหน่งงานที่สามารถรองรับมูลค่าเทียมดังกล่าวได้ ซึ่งมักเป็นงานที่ใช้ทักษะในระดับสูง
และหากมองจากประเทศที่ไม่ได้มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ที่ใช้วิธีการต่อรองร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในระบบองค์กรสหภาพแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ สวิตเซอร์แลนด์ ใช้วิธีการประชามติของภาคประชาชนในการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำด้วยคะแนนเสียงของประชาชน ในขณะที่สิงค์โปร์ ใช้กลไกตลาดเสรีอย่างเต็มที่ในตลาดแรงงานตามความสามารถจริงของลูกจ้างและนายจ้างในการตกลงค่าจ้างในประเทศ
เห็นได้ชัดว่า ประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีค่าตอบแทนที่ต่ำเลย และจัดอยู่ในประเทศรายได้สูงแทบทั้งนั้น รวมทั้งการใช้กลไกตลาดในการตกลงค่าตอบแทนระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง คือ การทลายข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่กำหนดขึ้นโดยภาครัฐ และเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกิดกิจการใหม่ ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะกิจการขนาดย่อม ที่ในอีกทางหนึ่งก็สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายในประเทศจากการที่กิจการขนาดย่อมจำนวนมากนั้นมีความเข้มแข็งและมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งจะเป็นการกระจายการเข้าถึงทรัพยากรให้อยู่ในมือของคนจำนวนมากแทนที่จะตกอยู่ในมือของกิจการขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ยอมรับการแทรกแซงจากรัฐอย่างเต็มที่ ซึ่งสนับสนุนการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานให้สูงขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจากการบริโภคที่มากขึ้นจากค่าตอบแทนแรงงานที่สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้ตำแหน่งงานภายในประเทศพัฒนากลายเป็นตำแหน่งงานที่สามารถสร้างมูลค่าออกมาในระดับสูง
อีกทั้งการขึ้นอัตราค่าแรงแบบก้าวกระโดด ในมุมมองของกลุ่มนี้จะเป็นการยับยั้งไม่ให้เกิดภาวะสมองไหล ซึ่งเป็นภาวะที่แรงงานทักษะสูงเลือกที่จะไปทำงานในประเทศที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า และการเกิดภาวะสมองไหลก็ย่อมมีผลทำให้ความรู้ความสามารถถูกไหลไปยังที่อื่น และทำให้การพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ในประเทศที่เกิดภาวะสมองไหลถูกชะลอตัวอยู่ รวมทั้งเป็นแรงจูงใจเชิงบังคับให้เกิดการพัฒนาด้านทักษะความสามารถและเทคโนโลยี ทั้งในตัวลูกจ้างและนายจ้างอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนการมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ แต่ไม่ได้ส่งเสริมให้ปรับขึ้นในระดับที่สูงมากนัก โดยเน้นให้มีการปรับตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องถูกบีบบังคับจากระบบเศรษฐกิจมากนัก ทั้งจากการถูกกดค่าแรงที่ต่ำเกินจริงเมื่อไม่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ หรือการถูกลดตำแหน่งงานในทักษะที่มีอยู่จากอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่สูงเกินไป
เพราะในทางหนึ่ง การมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำก็คือ การมีมาตรฐานขั้นต่ำในการรองรับมาตรฐานชีวิตของแรงงาน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ และสามารถเป็นฐานให้ต่อยอดกลายเป็นแรงงานที่มีทักษะได้ในอนาคต ขณะเดียวกันการที่ค่าแรงขั้นต่ำมีการปรับขึ้นอย่างช้า ๆ จะเป็นแรงจูงใจสำคัญในการทำให้แรงงานเลือกที่จะพัฒนาทักษะให้สูงขึ้นเพื่อรองรับมูลค่าค่าตอบแทนใหม่ และจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด แทนที่จะรอการปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งใหญ่เพียงอย่างเดียว
สุดท้ายนี้ เรื่องมุมมองอัตราค่าแรงขั้นต่ำยังคงเป็นประเด็นโต้แย้งของสังคม โดยเฉพาะในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยไม่แน่นอน ความตึงเครียดทางการเมืองและเศรษฐกิจ ค่าครองชีพพื้นฐานจำพวกอาหารและพลังงานส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก จึงทำให้ประเด็นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉพาะเรื่องการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรง หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร “ก็คงต้องรอดูกันต่อไป”
โดย ชย
อ้างอิง:
[1] What is a minimum wage
[2] What Are the Pros and Cons of Raising the Minimum Wage?
[3] Disadvantages of Minimum wages
https://www.economicshelp.org/labour-markets/disadvantages-minimum-wages/
[4] ประเทศที่ไร้ “ค่าแรงขั้นต่ำ” แต่แรงงานได้ค่าจ้างสูงกว่าไทย 12 เท่า
https://www.bbc.com/thai/articles/c4n2442pgeno
[5] ค่าแรงขั้นต่ำ : ศึกนโยบายประชานิยมชิงคะแนนเสียง พรรคได้ แต่เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
Here We Go (69) ถอดกลยุทธ์ “ถอยอำพรางรุก” ของก้าวไกล แก้เงื่อนปมประเด็น แบ่งแยกดินแดน วิเคราะห์คดีหุ้นสื่อ ITV ของพิธา
‘อังกฤษ’ จาก “ดินแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” สู่ความเป็น “คนป่วยแห่งยุโรป” เพราะสวัสดิการสังคม ที่ไม่สมดุลกับรายได้ทางเศรษฐกิจ จนเป็นภาระ และความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบถอนรากถอนโคน
“ทำไมบางคนอยากให้ไทยตกเป็นเมืองขึ้น? ส่องจิตใต้สำนึกของ “คนไทยใจตะวันตก” ผ่าน Colonial Mentality”
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม