
ควรมีการตั้ง คกก. ชำระคดีตากใบ ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้ควรใช้แนวทางใหม่ในการชำระคดี ทดแทนกระบวนการทางกฎหมายที่สิ้นสุดลง
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีตากใบว่า ถึงแม้ว่าคดีจะหมดอายุความไปแล้ว แต่รัฐบาลควรจะประกาศแนวทางใหม่ในการชำระสะสางคดีนี้ในทางการเมือง ทดแทนกระบวนการยุติธรรมที่ยุติลง
ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ สหรัฐเคยใช้มาก่อน ต่อกรณี “เหตุกราดยิงที่มหาวิทยาลัยเคนต์สเตจ” ซึ่งศาลสหรัฐ ตัดสินคดีว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพียงปฏิบัติตามคำสั่ง กระทำตามหน้าที่ และภายใต้สถานการณ์ที่มีความชุลมุนวุ่นวาย บีบบังคับให้เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวเอง และเป็นเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต
ซึ่งในคดีนั้น พิสูจน์ได้ในภายหลังด้วยว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ในขณะที่กรณีตากใบนั้น พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุม พกพาอาวุธเข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในกรณีที่เคนต์สเตจนั้น ชาวอเมริกันในเวลานั้นกว่า 60% เห็นว่าเป็นความผิดของกลุ่มผู้ชุมนุมเลยด้วยซ้ำ
ซึ่งทำให้รัฐบาลสหรัฐในเวลานั้นเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ แต่ในภายหลังมีการถอดบทเรียนจากกรณีดังกล่าว มีการรำลึกถึง สืบหาหลักฐานใหม่ และมีการดำเนินการในสหประชาชาติ ซึ่งถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปกว่า 54 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีการถอดบทเรียนเกี่ยวกับกรณีนี้อยู่
“ผมไปเรียนที่นั่นอยู่พักหนึ่ง เพราะว่าเรื่องนี้ครับ แล้วก็ให้เห็นว่าความยุติธรรมในระบบนี้มีหลายรูปแบบ แล้วก็ถึงจะจบไปนะครับในทางกฎหมาย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วัฒนธรรมตาต่อตาฟันต่อฟัน และยังสามารถไปแสวงหาความยุติธรรมในส่วนของการเมือง” รศ.ดร.ปณิธานกล่าว
รศ.ดร.ปณิธานกล่าวต่อว่ากรณีเช่นนี้ นอกจากที่สหรัฐแล้ว ยังมีคดีกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (IRA) ในสหราชอาณาจักรกับไอร์แลนด์เหนือ และคดีของนายเนลสัน แมนเดลา ในแอฟริกาใต้ เป็นอีกกรณีตัวอย่างให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าคดีทางกฎหมายจะจบลงไปแล้ว แต่จะต้องมีกระบวนการยุติธรรมอื่นที่ทำให้สังคมอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ
นอกจากนี้ รศ.ดร. ปณิธานเตือนว่า จากนี้ไป จะต้องมีการเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนที่อาจจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และคอยระวังป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้น
และหลังจากนี้ ควรจะมีการปรับแนวทางในการดำเนินการให้เข้าสู่กระบวนการใหม่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีการรับฟังทุกฝ่าย เนื่องจากแต่ละฝ่ายต่างก็มีจุดยืนที่แตกต่างกัน ซึ่งจะต้องมีการหาจุดร่วม ซึ่งในเวลานี้ยังไม่สามารถหาจุดร่วมได้ แต่ถ้าหากว่าสามารถหาจุดร่วมได้ เรื่องนี้ก็จะจบลงอย่างแท้จริง เกิดกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง
ซึ่งในต่างประเทศ ในหลายกรณี เคยมีการสร้างความยุติธรรมที่แท้จริง นอกระบบกฎหมายปกติ ในหลายประเทศใช้ศาลภาคประชาชน เพื่อสร้างกระบวนการที่ทำให้เกิดการยอมรับในข้อผิดพลาด
ทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์ตากใบ เคยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว และมีการตั้งข้อสรุปแล้ว 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความผิด แต่อีกส่วนหนึ่งระบุว่า อาจจะเกิดข้อผิดพลาด ประมาทเลินเล่อ แต่ไม่ถูกนำไปสู่การดำเนินคดี
ซึ่งนี่อาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการชำระสะสางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งนี่ แกนนำ 58 คนที่เคยถูกฟ้องร้อง และได้รับการยกฟ้องไปแล้ว จะต้องกลับเข้ามาสู่กระบวนการนี้ด้วย เพื่อการชี้แจง ชำระตัวเอง ซึ่งคงไม่ง่าย แต่ถ้าดำเนินการตามนี้ ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ง่าย แต่สุดท้ายแล้วจะสร้างการยอมรับ และสามารถเดินหน้าต่อไปได้
นอกจากนี้ ถ้าหากว่าฝ่ายบริหารออกมาแสดงความรับผิดชอบ ก็จะช่วยถอดชนวนความขัดแย้ง ทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายลงได้มาก ซึ่งกรณีลักษณะนี้ มีตัวอย่างให้เห็นอย่างในญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ หรือในละตินอเมริกา
สำหรับที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีไทย (นายทักษิณ ชินวัตร) ได้ออกมาขอโทษแล้ว แต่ว่าไม่ได้เป็นการกระทำอย่างเป็นทางการ เป็นการขอโทษผ่านรายการออนไลน์ และนายกรัฐมนตรีบางท่านดำเนินการ ที่จะทำให้สถานการณ์ไม่ปะทุขึ้นมา แต่ทั้งนี้จะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบมากกว่านี้
และจะต้องพึ่งพาฝ่ายการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีอำนาจและอาณัติสูงกว่า และสามารถถอดชนวนความขัดแย้งได้ แต่ทั้งนี้ การปะทะกันของฝ่ายการเมือง ก็จะสร้างความไม่มั่นใจให้แก่สังคมได้เช่นกัน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่มีที่พึ่ง
สำหรับการเยียวยาผู้เสียหายนั้น รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า การเยียวยาด้วยตัวเงินอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีการเยียวยาความรู้สึกด้วย และการที่ประเทศไทยมีผู้นำรุ่นใหม่ ๆ ที่ในเวลาที่เกิดกรณีตากใบนั้น ยังอายุน้อยกันอยู่ ไม่ได้สัมผัสกับสถานการณ์โดยตรง จึงน่าจะมีความเป็นกลางมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ
สำหรับสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังจากนี้ รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า จะมีความตึงเครียดมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ไม่ควรจะใช้วิธีการแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือคิดแก้แค้น แต่ไม่คิดแก้ไข” แต่ควรจะมีการเสนอทางเลือกใหม่ ๆ อย่างเช่นเรื่องของการตั้งคณะกรรมการชำระคดี อย่างที่เราไม่เคยทำกันมาก่อน และยังไม่มีใครเสนอ แต่สามารถทำได้ และยังสามารถใช้ได้กับคดีทางการเมืองอื่น ๆ ด้วย