รัฐบาลหลังชนฝา ที่ไม่อาจจะผิดพลาดได้เลย ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้อุปสรรค 3 ด่าน และปัจจัยแวดล้อม ที่รัฐบาลแพรทองธาร 1 จะต้องเผชิญ
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ตอบโจทย์” ของสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 เกี่ยวกับการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ว่า สามารถฝ่าด่านสำคัญในชั้นแรกไปได้แล้ว สามารถเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย เพื่อการเริ่มต้นไปข้างหน้า
เมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์ระหว่าง น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าประชาชนควรจะรู้สึกอย่างไร รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า เรื่องนี้ถือได้ว่าไม่ธรรมดาเท่าไรนัก แต่ก็เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว และประชาชนก็ยังจับตาดูอยู่ แต่ก็เป็นไปตามกติกา ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการปรับเปลี่ยนก็เป็นได้ แล้วแต่ประชาชนจะเห็นชอบ
ทั้งนี้ “ราชวงศ์การเมือง (Political Dynasty)” ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด เกิดขึ้นทั้งในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ สำหรับสิงคโปร์ นายลอเลนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนปัจจุบัน ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกนับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศที่ไม่ได้มาจากกลุ่มผู้ก่อตั้งประเทศ และในกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ การเลือกนั้นอยู่ในวงในมาก ๆ
อย่างไรก็ดี ที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นไม่ได้เป็นการพูดเพื่อให้เกิดการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ แต่เป็นการตั้งข้อสังเกตว่าเรายังอยู่ในวังวน และอาจจะทำให้เกิดวิกฤติได้ ซึ่งศรีลังกานั้นถือเป็นตัวอย่างที่ดี
เมื่อถูกถามว่าในช่วงเลือกตั้งก็เป็นเช่นนี้ ในช่วงรัฐบาลทหารก็มีการส่งคนไปเป็น สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ส่งคนไปอยู่ในรัฐวิสาหกิจ และตำแหน่งสำคัญ ๆ ถือว่าเป็นทีใครที่มันหรือไม่ รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าความไว้วางใจ ความเชื่อใจถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งอาจเรียกง่าย ๆ ว่า “สั่งได้” ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด แต่ทั้งนี้ คนในครอบครัวก็ใช่ว่าจะสั่งได้เสมอไป ที่สั่งไม่ได้ก็มี
แต่ทั้งนี้ถือว่าได้ผ่านด่านแรกไปแล้ว แต่ผ่านแบบฝุ่นตลบ และมีข้อกังขาพอสมควร แต่ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด โดยใน ครม. มีรัฐมนตรีคนเก่า 23 คน คนใหม่ 13 คน และที่สำคัญคือการมีผู้หญิง 8 คน รวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อผสมเข้าไปแล้ว คนก็บอกว่าให้โอกาส
แต่อยู่บนพื้นฐานว่าไม่มี honeymoon period (ช่วงฮันนีมูน) ซึ่งตัวนายกรัฐมนตรีก็พูดเองว่าไม่มี และรัฐบาลจะมุ่งหน้าผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเลย โดยในวันที่ 7 ก.ย. จะมีการแถลงนโยบาย และมีเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต
ทั้งนี้สาเหตุที่ไม่มีช่วงฮันนีมูนนั้นมีสาเหตุ 3 ประการ
1 การเป็นพรรคการเมืองที่มีคนนิยมที่สุด ซึ่งจะเป็นแต้มต่อ ถึงแม้ว่าจะมีคนรู้สึกว่าไม่ปกติสักเท่าไร แต่ก็ยังอยู่ในกติกา ซึ่งในยุโรปก็มีลักษณะนี้
2 ได้โอกาสมาเกือบปี แต่ก็ยังแก็ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ค่อยได้
3 มีอดีตความซับซ้อนของครอบครัว และของคดี
การที่มีประชาชนกังขา ทำให้เกิดข้อเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ทำเรื่องเศรษฐกิจ นโยบายเรือธง ดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งมีข่าวมาแล้วว่าจะมีการเร่งปรับเปลี่ยนวิธี และจะต้องเดินหน้าได้โดยไม่มีข้อผิดพลาด ซึ่งนี่จะเป็นด่านที่ 2 ที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญ
ทั้งนี้ในอดีตมีนายกรัฐมนตรีบางคนที่ไปไม่รอดตั้งแต่ด่านแรก เปลี่ยนชื่อนายกรัฐมนตรีก่อนทูลเกล้าฯ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้ผ่านด่านแรกมาแล้ว แต่ว่าผ่านแบบมีข้อสังเกต ข้อกังขา และมีปัญหา พูดง่าย ๆ ว่าผ่านแบบหลังชนฝา และไม่มีพื้นที่ที่จะผิดพลาดได้อีก ซึ่งนี่จะนำไปสู่การพิสูจน์จริง ๆ ภายในเวลาไม่กี่วันนี้ว่าโครงการใหญ่ ๆ จะเป็นอย่างไร
อีกทั้งกลุ่มต่อต้านได้รวมตัวกัน มีการฟ้องร้องเป็นคดี และเรื่องของความมั่นคง การแต่งตั้งนายทหาร ก็มีปัญหาและยาวนานที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ในรอบหลายสิบปี และยังไม่ลงตัว ต้องรอให้ รมว. กลาโหมคนใหม่เป็นผู้พิจารณาว่าจะเลือกใคร
ทั้งหมดเหล่านี้จะเป็นด่านที่ 3 ที่จะต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มต่อต้าน ทั้งในฝ่ายการเมืองด้วยกัน ในระบบราชการ และกลุ่มคนภายนอก ซึ่งด่านนี้จะเป็นด่านที่น่าเป็นห่วงที่สุด ถ้ามีพลัง ซึ่งถ้าหากเกิดการรวมพลังทั้งในและนอกสภา ประกอบกับนโยบายเรือธงไม่สำเร็จ ก็จะกลายเป็นพลวัต
สำหรับเสถียรภาพของรัฐบาลนั้น ในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นมีปัญหาน้อยกว่าที่คิด และจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วกว่าที่คาด เห็นได้ว่ารัฐบาลตระหนักดีถึงความรุนแรงของปัญหาเศรษฐกิจ และความคาดหวัง อีกทั้งยังต้องสะท้อนให้เห็นถึงคนรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งการดำเนินการอย่างรวดเร็วนี้ ถือว่าได้คะแนน สร้างความพึงพอใจให้นักธุรกิจ แต่ทั้งนี้ ด่านที่ 2 จะถือว่าเป็นเรื่องที่หนัก
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะสามารถฝ่าโจทย์ทางเศรษฐกิจและการเมืองไปได้หรือไม่ รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่ายากมากและมีความน่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้ เรื่องน้ำ เรื่องพลังงาน เรื่องที่ดิน หลายเรื่องฝ่ายบริหารซึ่งมาจากบ้านเล็กบ้านใหญ่ แม้แต่บ้านใหม่ต่างทำงานเป็นแท่ง และระบบราชการมีกฎหมายของตัวเอง
(ทำงานเป็นแท่ง หมายถึงรูปแบบการทำงานที่แต่ละกระทรวงแยกกันทำงาน โดยไม่มีการทำงานร่วมกัน และไม่มีทิศทางการทำงานเดียวกัน)
ที่ผ่านมา ตนเองเคยทำงานให้กับนายกรัฐมนตรี 4 – 5 ท่าน เพื่อลงไปบีบธนาคาร SME ให้ปล่อยหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องยาก มีการอ้างข้อกฎหมาย นี่เป็นสาเหตุให้มีการสร้างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อมาบีบทุบให้ทุกหน่วยงาน และภาคเอกชนเดินไปในทางเดียวกัน ซึ่งยากมาก
ดังนั้น บารมีของผู้ที่จะมาคุมทีม คือนายกรัฐมนตรี หรือใครก็แล้วแต่ที่มีบารมีจะต้องลงไปกำกับดูแล ในหลายประเทศก็ใช้ตัวแทนพิเศษ อดีตประธานาธิบดี หรืออดีตนายกรัฐมนตรีลงไปช่วยขับเคลื่อน
รศ.ดร.ปณิธานย้ำว่า การทำงานเป็นแท่งไม่สามารถขับเคลื่อนแก็ไขปัญหาการลดหนี้ อัดฉีดเงินได้ แค่อัดฉีดเงินก็ทะเลาะกันไปหมด นายกรัฐมนตรีจะต้องลงไป จนกว่าจะมีการปรับโครงสร้าง จนกว่าจะมีการปฎิรูประบบ
ขณะนี้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ “เงินไม่เข้า ส่งไม่ออก” ซึ่งถ้าไม่อัดฉีดเงินลงไปให้ประชาชนพออยู่ได้ มันจะยุ่ง แต่เพียงอัดฉีดเงินยังไม่พอ จะต้องส่งออกให้มากขึ้น และดึงนักลงทุนและนักท่องเที่ยวให้มากกว่านี้ แต่ในขณะเดียวกันจะต้องมีการปรับโครงสร้าง และการเข้าสู่การแข่งขันด้วย
ทั้งนี้ในวันที่ 7 ก.ย. ที่จะถึงนี้ (ประชุม ครม. นัดพิเศษ ภายหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ ของ ครม. ชุดใหม่) จะมีการเรียกทุกพรรคมาหารือเรื่องนโยบาย ซึ่งจะเห็นทันทีว่า บ้านเล็ก-บ้านใหญ่-บ้านใหม่ ซึ่งต่างก็มีนโยบายที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรีไม่ลงไปเคาะ ลงไปบีบ ก็จะไม่มีทางทำได้
เมื่อถามถึงโจทย์การการเมืองระหว่างประเทศ ว่าประเทศไทยอยู่ในสถานะที่จะต้องเฝ้าระวังหรือไม่ รศ.ดร. ปณิธานตอบว่า ต้องเฝ้าระวังไปอีกยาว ขณะนี้สถานการณ์ในเมียนมา จีนมีการซ้อมรบด้วยกระสุนจริง เคลื่อนกำลังเข้ามากดดันรัฐฉานให้อยู่นิ่ง
แต่พวกนี้ก็ทะลักลงมาใกล้ท่าขี้เล็ก กระทบกับชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งยังไม่ปิด และอันตรายสุ่มเสี่ยงมาก อีกทั้งอินเดีย และหลายประเทศก็เข้าไปเคลื่อนไหวในเมียนมาค่อนข้างมาก แต่ไทยกำลังรอให้ผู้ที่จะเข้ามาดูแลนโยบายในส่วนนี้ตัดสินใจ
ในภาคใต้ สิงคโปร์และมาเลเซียบีบให้เข้าสู่ระบบใหม่แล้ว ทุกคนที่จะข้ามพรมแดนสิงคโปร์-มาเลเซียจะต้องสแกนบาร์โค้ด ในเรื่องนี้มาเลเซียไม่จริงใจกับไทย เพราะว่าไม่ยอมทำในเรื่องนี้กับไทย นายกรัฐมนตรีจะต้องลงไปบีบให้มาเลเซียทำแบบเดียวกับที่ทำกับสิงคโปร์
คนหลายแสนคนที่ทะลักไปมา และโจมตีพี่น้องประชาชนคนไทย โดยไม่ทราบว่าใครเป็นใคร แต่สิงคโปร์-มาเลเซียทำสำเร็จแล้ว เมื่อเดือนที่แล้ว
สำหรับการเข้าร่วมกับกลุ่ม BRIC ที่มีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างเข้าร่วมหรือไม่เข้า นายกรัฐมนตรีจะต้องรับฟังอย่างรอบด้านและตัดสินใจ ซึ่งเรื่องนี้ภาคเอกชนกำลังจับตามองการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี
สำหรับในสหรัฐ ซึ่งใกล้จะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดี ทั้งพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน ต่างก็มีแนวทางที่จะตั้งกำแพงภาษีต่อจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงไทยด้วย ซึ่งไทยต้องเริ่มการเจรจากับสหรัฐแล้ว
สำหรับการออกมาเคลื่อนไหวของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาลหรือไม่ รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าจะเป็นคลื่นใต้น้ำ
นอกจากนี้ รศ.ดร. ปณิธานยังกล่าวถึงความสำคัญของรองนายกรัฐมนตรีนั้น มีเพื่อการสร้างความเป็นเอกภาพในการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง ไม่ใช่ทำงานแบบเป็นแท่ง กระทรวงหนึ่งจะไม่ยุ่งกับอีกกระทรวงหนึ่ง แต่ถ้ารองนายกรัฐมนตรีกำกับกระทรวง 4 – 5 กระทรวง
ยกตัวอย่างสถานการณ์เมียนมาในเวลานี้ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงจะต้องตัดสินใจ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ รมว. ต่างประเทศ และ รมว.กลาโหมไม่สามารถทำได้ แต่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงสามารถทำได้ นอกจากนี้รองนายกรัฐมนตรีแต่ละคนจะมีงบประมาณเป็นร้อยล้าน ที่สามารถนำไปแจกจ่ายเพิ่มเติมให้กับแต่ละกระทรวงในกำกับได้ด้วย