เพราะแย่งคะแนน จนเสียงแตก จึงแพ้พรรคส้ม ‘ดร.เสรี’ ชี้แทบทุกพื้นที่มีคนไม่เอาพรรคส้มมากกว่า แต่ชนะเพราะฝ่ายตรงข้ามแย่งคะแนนกันเอง
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวานนี้ (15 ก.ย. 2567) กล่าวถึงผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. พิษณุโลกเขตที่ 1 โดยมีข้อความว่า
“เห็นชัดกันแล้วยังว่าถ้าหากพรรคส้มสู้กับฝ่ายตรงกันข้าม จะเป็นพรรคไหนก็แล้วแต่ พรรคส้มจะแพ้ในทุกพื้นที่
แต่หากพรรคต่างๆที่สู้กับส้มลงมาแข่งทุกพรรค แล้วแย่งคะแนนกันจนเสียงแตก พรรคส้มก็จะชนะ ทั้งๆที่พรรคตรงกันข้ามกับส้ม เอาคะแนนมารวมกันจะมากกว่าส้ม
แสดงว่าแทบทุกพื้นที่คนไม่เอาพรรคส้มมีมากกว่าคนที่เอาพรรคส้ม แต่คนกลุ่มนี้มีพรรคให้เลือกหลายพรรคที่แย่งคะแนนกัน
ตัวเลขก็ชัดขนาดนี้แล้วว่าสู้แบบ 1 ต่อ 1 ส้มแพ้ แต่ถ้าสู้แบบ 1 ต่อหลายพรรคที่แย่งคะแนนกัน ส้มจะชนะ
เรื่องง่ายๆแค่นี้ มองคณิตศาสตร์การเมืองกันไม่ออกหรือไร เมื่อไรจะถอดบทเรียนกันออกมาสักที สู้กันแบบนี้ ระวังส้มจะครองเมือง
หรือมันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีที่พรรคต่างๆที่สู้กับส้มยอมกันไม่ได้ ถ้ายังคิดแบบนี้ เลือกตั้งคราวหน้าส้มมาแน่ ลองคิดอ่านกันหน่อยนะ จะสู้กับส้มยังไง
คนที่ลงสมัครจะเข้ามาหาหัวหน้าพรรคแล้วบอกตัวเองมีฐานเสียงดีกันทั้งนั้น แล้วหัวหน้าพรรคก็เชื่อ หวังว่าจะชนะก็ส่งลงแข่งขัน
และต้องยอมรับว่าทุกคนที่บอกว่าตัวเองฐานเสียงดี มันก็ดีจริงๆ แต่เมื่อฐานเสียงดีกันหลายคน คะแนนมันก็เลยแตก
สุดท้ายก็ต้องแพ้ส้มที่เสียงไม่แตก เมื่อเป็นเช่นนี่จะเปลี่ยนแนวทางสู้กันอย่างไร ถึงจะหยุดชัยชนะส้มให้ได้
รวมพรรคกันได้ไหม? ถอยให้กันได้ไหม? รู้ว่าลงไปก็สู้ไม่ได้ ลงไปก็ตัดคะแนนกันเปล่าๆ ไม่ส่งในบางพื้นที่ได้ไหม
ได้แต่คิด แต่สิ่งที่คิดได้ คงไม่เกิดขึ้นอย่างที่คิด คงต้องทำใจยอมรับชัยชนะของส้ม เพราะพรรคที่สู้กับส้มทุกพรรคต่างมีศักดิ์ศรี
หัวหน้าพรรคทุกพรรคต่างก็อยากเป็นนายกรัฐมนตรียังยอมกันไม่ได้ เลยต้องตกที่นั่งผู้แพ้ไปด้วยกัน เศร้าจัง”
และในวันนี้ (16 ก.ย. 2567) ดร.เสรี โพสต์เพิ่มเติมโดยมีข้อความว่า
“ก่อนจะมีส้ม เลือกตั้งกี่ครั้งแดงชนะตลอด เพราะ
- บ้านใหญ่หลายจังหวัดเป็นแดง
- หาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม
- ประชาชนจำนวนมากอยากได้ผลประโยชน์จากนโยบายประชานิยม ไม่สนใจว่าพรรคที่เสนอนโยบายประชานิยมดีเลวอย่างไร
- คนไม่เอาพรรคแดง มีพรรคให้เลือกหลายพรรคทำให้เสียงแตก ผู้สมัครของแต่ละพรรคได้เสียงน้อยกว่าผู้สมัครของพรรคแดง
ทั้งๆที่คนเลือกพรรคแดงมีน้อยกว่าคนที่ไม่เลือกพรรคแดง แต่ผู้สมัครพรรคแดงเสียงไม่แตก คนไม่เลือกพรรคแดงเสียงแตก
เหตุการณ์เกิดขึ้นแบบนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่พรรคตรงข้ามกับพรรคแดงก็ไม่เคยได้บทเรียนว่าพรรคแดงชนะเพราะพรรคอื่นเสียงแตก
พอมีพรรคส้ม เหตุการณ์คนไม่เอาพรรคส้มเสียงแตก ทำให้พรรคส้มชนะยกจังหวัดหลายจังหวัด
คิดจะถอดบทเรียนแล้วปรับยุทธศาสตร์กันบ้างไหมคะ”