พรรคประชาชน ทำการบ้านเรื่องค่าไฟมาไม่พอ ‘อาจารย์วีระ’ ชี้โครงการรับซื้อไฟฟ้าที่พรรคประชาชนคัดค้าน มีราคาเพียง 2 บาทกว่า ๆ ยิ่งทำมาก ยิ่งดี
สืบเนื่องจากเท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้าน อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร์ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
ในการหยุดยั้งการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 (Feed—in Tariff เฟส 2) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
ซึ่งได้มีการประกาศรายชื่อผู้ที่รับการคัดเลือกไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมาโดยให้เหตุผลว่าการดำเนินการตามโครงการนี้นั้น จะเป็นสาเหตุให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น
ซึ่งในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว. พลังงานซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้มาตอบกระทู้เองก็กล่าวว่าการรับซื้อมีปัญหาและไม่ถูกต้องจริงๆ ไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ จึงได้ส่งหนังสือให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพิจารณายกเลิกการรับซื้อ แต่ กกพ. แต่ กกพ. ไม่รับ
ในขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2567 ว่าราคาค่าไฟที่ 4 บาทต่อยูนิตนั้นถือว่าแพงมาก ควรจะลดลงให้ได้ที่ระดับ 3 บาทกลาง ๆ และควรจะมีการลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นลงให้ได้มากที่สุด
อาจารย์วีระ ธีรภัทร นักจัดรายการวิทยุ และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า นายทักษิณเองก็คงจะทราบดีว่ามีข้อจำกัดมากน้อยเท่าใด ในการลดค่าไฟฟ้าให้ได้มากกว่านี้ ในขณะที่นายพีระพันธุ์นั้นก็ได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้วในการลดค่าไฟ แต่สุดท้ายก็ลดได้เพียงแค่ 3 สตางค์
และโดยโครงสร้างแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะลดให้เหลือเพียง 3 บาทต้น ๆ อย่างที่เคยเป็นมาในระยะสั้น ๆ เนื่องจากว่ารัฐบาลยังมีหนี้ค้างจ่ายค่า FT (ค่าไฟฟ้าผันแปร) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) อยู่ประมาณ 8 หมื่นกว่าล้าน
ซึ่งภายใต้สภาวการณ์ที่เป็นอยู่นี้นั้น นายพีระพันธุ์ได้ทำให้ค่าไฟฟ้านั้นไม่ขึ้นมาก แต่ก็เอาลงไม่ได้แล้ว โดยก่อนนี้มีการกล่าวกันว่าจะขึ้นราคาไปถึง 4.50 บาท แล้วก็มีการวิจารณ์กันมาก แล้วก็ลดลงมาเหลือ 4 บาทต้น ๆ แต่การจะลดลงมาให้ได้เหลือ 3 บาทกลาง ๆ อย่างที่นายทักษิณได้กล่าวมานั้น ไม่มีทางเป็นไปไม่ได้เลยในสภาวะการณ์เช่นนี้
ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านออกมากล่าวว่า ถ้าหากว่ามีการเซ็นสัญญาในโครงการ Feed-in- Tariff ก็จะส่งผลให้คนไทยต้องแบกรับค่าไฟราคาแพงไปอีก 25 ปี นั้น อาจารย์วีระกล่าวว่า “พรรคประชาชนทำการบ้านมาไม่พอ”
และกล่าวต่อว่าประเด็นของเรื่องนี้คือการซื้อไฟฟ้ารอบนี้ซึ่งเป็นไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น ไม่มีค่า adder (อัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มโดยบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติเป็นระยะเวลา 7 หรือ 10 ปี ตามประเภทของโรงไฟฟ้า) จึงทำให้มีราคาเพียง 2 บาทกว่า ๆ จึงยิ่งทำมากก็ยิ่งดี และไม่ได้เป็นภาระอย่างที่มีการพูดกัน
“คือมันมีหลายประเด็น แต่ผมคิดว่าเขายังทำการบ้านไม่พอ สรุปอย่างนั้นดีกว่า ผมไม่อยากจะไป discredit (ทำลายความน่าเชื่อถือ) ใครในเรื่องแบบนี้ เพราะว่ามันมีเหลี่ยมในการมองที่แตกต่างกัน” อาจารย์วีระกล่าว
และกล่าวว่า เรื่องการทำสัญญา PPA (Power Purchase Agreement – ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้เอง) ระหว่าง กฟผ. และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่จะซื้อจากเอกชนนั้น คนตัดสินไม่ใช่ทั้งนายกฯ และ รมว. พลังงาน แต่เป็น กกพ. “(แล้ว) จะไปถามนายกหาพระแสงอะไร!” ซึ่งกกพ. นั้นเป็นองค์กรอิสระ ที่รัฐบาล ไม่ว่าจะโดยนายกฯ หรือ รมว. พลังงานก็ไม่สามารถแทรกแซงได้