วิวาทะ พายุ เนื่องจำนงค์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย VS รักชนก ศรีนอก สส. กรุงเทพ พรรคประชาชน 19 ธ.ค. 2567
ไอซ์ – รักชนก ศรีนอก สส. กรุงเทพ พรรคประชาชน โพสต์ ig story เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2567 เพื่อเรียกร้องให้ น.ส. แพทองาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาตอบกระทู้ในสภาฯ เกี่ยวกับปัญหาค่าไฟฟ้าแพง
ทำให้ในที่ 19 ธ.ค. 2567 นายพายุ เนื่องจำนงค์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทยออกมาตอบโต้ผ่าน X ว่า “ตอบนะครับ: สิ่งที่ท่านนายกฯทำอยู่ก็เป็นการแสดงออกถึงความเข้าใจในการบริหารราชการแผ่นดิน ท่านจึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มีหน้ารับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงไปตอบคำถามกระทู้ในวันนี้
เนื่องจากท่านรัฐมนตรีจะมีข้อมูลมากที่สุดในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวงเพราะเป็นเรื่องเดียวที่ต้องโฟกัส ซึ่งเทียบกับท่านนายกฯที่ต้องบริหารทั้งรัฐบาลที่มีถึง 20 กระทรวงให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ยังไม่รวมหน้าที่ความรับผิดชอบอื่นๆอีกมากมาย”
อีกทั้งยังชี้แจงว่า สาเหตุที่ นายกฯ ต้องเลื่อนการตอบกระทู้นั้น เพราะว่าติดภารกิจช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ อีกทั้ง นายกฯ ไม่ได้ยกเลิกการตอบกระทู้ เพียงแต่ขอเลื่อนไปเท่านั้น
และตำหนิการใช้ถ้อยคำของ น.ส. รักชนก โดยเฉพาะคำว่า “เฟียส ๆ” ซึ่งเป็นการแสดงพฤติกรรมเหมือนบุคคลที่ไม่มีสัมมาคารวะและเคารพต่อพื้นที่สภา เพื่อการท้าทายนายกฯ ซึ่ง “เท่ากับว่า ที่จริงแล้วทางฝ่ายค้านไม่ได้ต้องการคำตอบที่มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริง”
ด้าน น.ส. รักชนก ได้รีทวิตโพสต์ของนายพายุ เพื่อโต้ตอบว่า “จะส่งองครักษ์มาพิทักษ์นายกทั้งทีก็ช่วยส่งคนที่มีสติปัญญามากพอที่เข้าใจความสำคัญของปัญหาหน่อยก็ดี ดูแล้วน่าเวทนากันทั้งในสภาและในโซเชียลมีเดียเลย เพราะไม่ได้เข้าใจในเนื้อหาสักนิด สักแต่ละปกป้องอย่างเดียวไม่ลืมหูลืมตา”
และระบุว่ารัฐบาลกำลังจะซื้อไฟฟ้าเพิ่ม 3,600 เมกะวัตต์ โดยไม่มีการประมูล และกำหนดราคารับซื้อที่เป็นการเอื้อประโยชน์กับนายทุน แต่จะสร้างภาระค่าไฟที่แพงให้กับประชาชน
อีกทั้งเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้มาตอบกระทู้เองก็กล่าวว่าการรับซื้อมีปัญหาและไม่ถูกต้องจริงๆ ไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ จึงได้ส่งหนังสือให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพิจารณายกเลิกการรับซื้อ แต่ กกพ. แต่ กกพ. ไม่รับ
อีกทั้งในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2567 ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ซึ่ง กพช. นั้นมีศักดิ์ที่สูงกว่า กกพ. แต่ กพช. ก็ไม่ได้มีการหารือกันในเรื่องนี้ อีกทั้งหลังการประชุมในวันนั้น ก็มีการประกาศรายชื่อเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก
“ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน แต่อำนาจ รมว.พลังงาน ทำอะไรไม่ได้แล้ว คนที่จะหยุดยั้งเรื่องนี้ได้คนเดียวในประเทศนี้คือ นายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะเป็นประธาน กพช.!!
ถ้าหยุดเรื่องนี้ไม่ได้จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอีกปีละ 4,162 ล้านบาท หรือ 104,050 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา 25 ปี ซ้ำเติมค่าไฟที่แพงอยู่แล้วเพราะรัฐให้กลุ่มทุนเจ้าเก่าสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น
ถ้าภายในวันที่ 30 ธ.ค. 67 นายกฯ ไม่ดำเนินการใดๆ จะแก้ไขเรื่องนี้ไม่ได้อีก ถึงต้องตามนายกให้รู้ความขนาดว่า สส. ที่ความรู้อยู่ปลายแถวของพรรคประชาชนอย่างเรา ยังเข้าใจความสำคัญของเรื่องนี้ แต่องคาพยพของรัฐบาลไม่มีใครเข้าใจเลยหรือ” น.ส. รักชนกระบุ ก่อนที่จะเรียกร้องให้นายกฯ มาตอบกระทู้ในสภาฯ