แม้ค้างค่าปรับจราจร แต่เมื่อจ่ายภาษีรถ ต้องได้ป้าย ‘ศาลปกครอง’ ให้ ‘ก.การขนส่งทางบก’ ชดใช้ค่าเสียหาย 3,151.50 บาท ให้ผู้จ่ายภาษีรถ แต่ไม่ได้ป้าย เพราะค้างค่าปรับ
ศาลปกครองกลางพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2120 / 2567 คดีหมายเลขแดงที่ 2682 / 2567 ที่ นายอำนาจ แก้วประสงค์ เป็นโจทก์ ฟ้องร้องกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา
โดยโจทก์ฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
จากการที่ ขบ. ไม่ออกป้ายภาษีวงกลมให้ โดยส่งมอบแค่ใบเสร็จชำระค่าภาษีประจำปีแล้วประทับตรา ว่าใช้แทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีไม่เกิน 30 วัน ให้แทน พร้อมเอกสารที่ปริ้นท์จากเครื่องคอมพิวเตอร์แสดงรายละเอียดข้อมูลการกระทำความผิดตามกฎหมายจราจร ซึ่งระบุว่าโจทก์ค้างชำระค่าปรับ 500 บาท ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความเร็วไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
โดยอ้างว่าเป็นข้อตกลงระหว่าง ขบ. กับ สตช. และอ้างว่าโจทก์จะต้องไปชำระค่าปรับกับ สตช. ก่อน จึงจะออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีฉบับจริงให้ได้
โจทก์เห็นว่าการกระทำของ ขส. นั้นมิชอบด้วยกฎหมาย ละเมิด และจำกัดสิทธิในการใช้รถยนต์ของโจทก์ เนื่องจากว่าถ้าหากว่าโจทก์นำรถยนต์ที่ไม่มีการติดป้ายแสดงการเสียภาษีไปใช้ ก็จะเป็นเหตุให้ต้องเสียค่าปรับจากการไม่แสดงป้ายฯ และเห็นว่าการค้างชำระค่าปรับจราจร และการชำระภาษีรถยนต์ประจำปีนั้น ไม่เกี่ยวข้องกันโดยสิ้นเชิง
โดยอ้างอิงคำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีหมายเลขแดง 1855/2563 ลงวันที่ 27 ก.ย. 2566 ซึ่งศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า “หลักการชำระภาษีรถเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวรถ แต่การกระทำผิดกฎจราจรเป็นเรื่องของบุคคล การนำสองเรื่องมาเชื่อมโยงกันจึงไม่ถูกต้อง เป็นการบังคับทางอ้อมให้เจ้าของรถยินยอมชำระค่าปรับ”
อีกทั้งยังพิพากษาให้มีการเพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่าง ขบ. กับ สตช. ไปแล้ว
แต่จำเลยทั้ง 5 ซึ่งประกอบไปด้วยอธิบดีกรมการขนส่งทางบก, สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5, ฝ่ายทะเบียนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 และนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ยังคงปฎิบัติตามข้อตกลงนั้นอยู่ สร้างความเดือดร้อนให้แก่โจทก์เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ จากการไต่สวนในชั้นศาลพบว่า โจทก์ได้ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี 2568 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567ในขณะที่ใบสั่งที่ค้างชำระ อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถออกป้ายแสดงการชำระภาษีได้นั้น ออกเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 จากการที่ข้อมูลดังกล่าวถูกบันทึกเอาไว้ใน “ระบบบริหารจัดการใบสั่ง (Police Ticket Management – PTM)
โดยไม่ปรากฎพยานหรือหลักฐานว่าเจ้าพนักงานจราจรได้มีการออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งและค่าปรับที่ค้างชำระไปยังผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถ จึงเชื่อได้ว่าเจ้าพนักงานจราจรยังปฎิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งเป็นเหตุให้ ขบ. ไม่มีอำนาจในการชะลอการออกป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ อีกทั้งการที่ ขบ. ออกใบเสร็จรับเงิน ที่มีการระบุข้อความว่าใช้แทนป้ายฯ ได้ไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่ออกใบเสร็จรับเงินนั้น ถือได้ว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ ปฎิบัติงานล่าช้าเกินสมควร
อีกทั้งยังเห็นว่าข้อตกลงระหว่าง ขบ. กับ สตช. นั้นยังมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ พรบ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2560 ลงวันที่ 21 มี.ค. 2560 กำหนดไว้
จึงพิพากษาให้ ขบ. ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี พ.ศ. 2568 ให้แก่โจทก์ภายใน 3 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้ ขบ. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 3,151.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ3 ต่อปี
หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 7วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ