
ระบบอุปถัมภ์ในสังคมของไทย เอื้อเฟื้อด้วยความอารี หรือความอัปรีย์ ที่ฝังรากเกินกว่าจะถอนโคน
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาทุกยุคทุกสมัยว่า ‘ระบบอุปถัมภ์’ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น เป็นการส่งเสริมให้ทุกอย่างลื่นไหล ช่วยพี่เสริมน้องหรือว่าเป็นพฤติกรรมที่กำลังกัดกินสังคมไทยจนก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคกันแน่
คำดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางสังคมในการโจมตี เป็นวาทกรรมการเมืองเพื่ออธิบายการกระทำของฝ่ายตรงข้าม ตลอดจนถึงใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเพื่อให้ความหวังคนไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหาก ‘การอุปถัมภ์’ นั้นถูกนำไปใช้โดยก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น หรือสังคม มีการละเว้นกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใดผู้หนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือแม้กระทั่งในระบบใหญ่ที่อาจกระจายไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวงเรียกร้องสินบนใด ๆ สิ่งนั้นควรนับได้ว่าเป็นการกระทำที่ควรขจัดให้หมดไปจากสังคม
เรื่องนี้ขยายความไปจนถึงขั้นต่อต้าน เสียดสี แดกดัน สถาบันหลัก ๆ ที่จัดหลักสูตรต่าง ๆ ว่าเป็นการสร้างโครงข่ายอำนาจมากกว่าจะเป็นการจัดการพัฒนาองค์ความรู้ เป็นการผนึกกลุ่มคนเพื่อสร้างคอนเนคชั่นและเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง กันคนนอกออกจากการเข้าถึงทรัพยากร แน่นแฟ้นสืบทอดกันมาหลายสิบปี
จนกลายเป็นเกราะแน่นหนา เป็นโล่ที่กำบังพรางตากลุ่มคนเหล่านี้จากคนทั่วไปให้อิ่มหนำสำราญกับประโยชน์และความสะดวกสบายในทุกมิติ
ไม่ต้องพูดถึงการ ‘นับรุ่น’ ในสถานศึกษาต่าง ๆ ที่มักสืบทอดความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันจนประกอบอาชีพ แม้ว่าจะไม่เคยเห็นหน้าคาตากันเลย ทว่าพอรู้ว่ามีเลือดสีเดียวกันก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ หรือได้รับความเอ็นดูมากกว่าธรรมดา
ขยายใหญ่หน่อย ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรายังใช้คำว่า “บ้านพี่เมืองน้อง” เรายังเข้าร่วมการรวมตัวของประเทศต่าง ๆ เพื่อหวังจะได้ประโยชน์ต่อชาติเราเลย
แต่หากจะพิจารณากันให้ดี สิ่งต่าง ๆ ข้างต้นที่ดำเนินไปในสังคมไทยทุกวันนี้ มันเกิดขึ้นเพราะคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากอำนาจที่มี จนกลายเป็น ‘’อภิสิทธิ์ชน หรือมันสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมที่สืบทอดในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
ไม่ว่าจะนับคนเป็นพี่เป็นน้อง เรียกขานผู้สูงวัยกว่าด้วยคำว่าพี่ป้าน้าอา แม้กระทั่งเพื่อนบ้านที่มาจากไหนก็ไม่รู้ ถ้าจับพลัดจับผลูมาอยู่ใกล้กัน ถ้าไม่บาดหมางรุนแรงเราก็มีมิตรจิตมิตรใจให้มากกว่าคนที่เดินสวนกันไปบนท้องถนน
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คงทำให้เราต้องถามตัวเองว่าเป็นใครกันแน่ ที่ทำให้ระบบอุปถัมภ์ยังคงแข็งแกร่งในสังคมไทย กลุ่มผู้มีอำนาจ สถาบันที่สร้างหลักสูตรใหญ่ ๆ หรือคนธรรมดาตัวเล็ก ๆ แบบเราเอง
ดังนั้น เรามาลองถามคำถามตัวเองง่าย ๆ เช่น หากคุณเป็นคนที่ไปกินข้าวร้านเพื่อนแล้วคาดหวังส่วนลด หากคุณเป็นคนที่ไม่รีรอโทรหาใครเพื่อให้การติดต่องานต่าง ๆ ของคุณสะดวกรวดเร็วขึ้น หากคุณเป็นคนที่ยังหาทางฝากลูกเข้าโรงเรียน
หากคุณเป็นคนที่ยังมีความคิดจะโทรหาใครเมื่อต้องการอะไร ไม่ต้องเป็นสิ่งของเงินทอง บางครั้งเป็นเพียงสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างความรู้ในเรื่องที่เราไม่รู้ นั้นก็อาจจะหมายความว่าคุณคือหนึ่งคนที่ทำให้ระบบอุปถัมภ์ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย
ย้อนกลับไปในย่อหน้าต้น ๆ สถาบันที่จัดตั้งหลักสูตรเพื่อให้มีผู้บริหารระดับสูงมาเรียนร่วมกัน ความรู้เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือต้องการก่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการประสานกิจการของแต่ละหน่วยงานให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เป้าใหญ่อีกอย่างคือเพื่อให้ผู้บริหารนั้น ๆ มองเห็นภาพการพัฒนาประเทศไปในทำนองเดียวกัน รับลูกกัน และปรึกษากัน เพื่อให้เกิดพลวัตในการพัฒนาที่มีพื้นฐานจากความสมัครสมานสามัคคี
มาถึงตรงนี้ อาจจะพูดได้ว่า “ระบบอุปถัมภ์” ไม่ผิด การมี “คอนเนคชั่น” ไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ถ้ามันจะไม่เหมาะสม ก็คือ “เจตนา”ที่นำสายสัมพันธ์เหล่านั้นมา “ทำผิด” จนก่อให้เกิดโทษต่อสังคมมากกว่า
ดังนั้นก่อนที่เราจะตัดสิน หรือเลื่อนไหลไปตามวาทกรรมทางสังคมใด ๆ บางทีเราอาจจะต้องย้อนกลับมาถามตัวเองด้วยว่า พฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเรากำลังเป็นส่วนหนึ่งในระบบที่เรากำลังต่อต้านหรือเปล่า
ดร.ณพรรษธ์สรฌ์ เสมสันต์
นักวิชาการอิสระ