Newsบทพิสูจน์แพทองธาร บนเวทีการเมืองระดับโลก ‘รศ.ดร.ปณิธาน – สุทธิชัย’ ถกประเด็นความพร้อมของ นายกรัฐมนตรีในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

บทพิสูจน์แพทองธาร บนเวทีการเมืองระดับโลก ‘รศ.ดร.ปณิธาน – สุทธิชัย’ ถกประเด็นความพร้อมของ นายกรัฐมนตรีในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ในรายการ suthichai live ซึ่งนายสุทธิชัย หยุ่นเป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2567 เกี่ยวกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit 2024) ซึ่งจะจัดที่กรุงเวียงจันทร์ สปส. ลาว ในระหว่างวันที่ 6 – 11 ต.ค.ที่จะถึงนี้

ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว. ต่างประเทศในการประชุมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และ และ รศ.ดร. ปณิธานเองมีประสบการณ์ในการติดตามอดีตนายกรัฐมนตรีในการประชุมนานาชาติมาแล้วหลายครั้ง

 

— การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในภาพรวม —

 

นายสุทธิชัยถามว่านายกรัฐมนตรีควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไร รศ.ดร.ปณิธานกล่าวว่านายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงความรู้ ความเข้าใจ และมีความช่ำชองในเกมการเมืองระหว่างประเทศ ทรงต้องดี น้ำเสียงต้องได้ รูปลักษณ์ต้องใช้ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอาจจะมีบวกลบอยู่รูปลักษณ์ไม่ได้มีปัญหาอะไร และความเป็นผู้หญิงก็จะมีส่วนช่วยนิดหน่อย

 

ทั้งนี้ในประเด็นแรก เขาดูทีท่าเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องการทูต ซึ่งในเรื่องนี้สิงคโปร์ทำได้ดี มีความทันสมัย วาจาเฉียบคม ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กมาก มีน้ำหนักน้อยมากในโลกสมัยใหม่ แต่มีเงินเยอะ และเมื่อพูดจาแล้วต้องฟัง ซึ่งตนเองเคยฟังแล้วรู้สึกเหมือนสอนผู้นำคนอื่นเลยด้วยซ้ำ

 

นายสุทธิชัยกล่าวว่านายลอเลนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เองก็ถือว่าใหม่ (เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา) รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า แม้นายลอเลนซ์จะเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง แต่มีความเชี่ยวชาญมาก เป็นเลขาฯ ของนายลี เซียนลุง อดีตนายกรัฐมนตรีมานาน คนเขียนและส่งโผให้นายลีเป็นประจำ 

 

มีความรู้ดี แม้จะเป็นลูกชาวบ้าน แต่ว่าอยู่ในทีมเศรษฐกิจของสิงคโปร์ เคยเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่นำพาสิงคโปร์ฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี 2540 – 2542) เป็นหัวหน้าทีมแก้ปัญหาโควิด-19 มีประสบการณ์โชกโชน อีกทั้งถือเป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนแรกที่ไม่ได้มาจากครอบครัว หรือคนใกล้ชิดกับครอบครัวของนายลี กวนยู (ผู้ก่อตั้งและนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์) 

 

จึงน่าจะได้รับความสนใจมากในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้ว่าจะแสดงบทบาทได้ดีหรือไม่ และรวมไปถึงนายฮุน มาเน็ด นายกรัฐมนตรีกัมพูชาซึ่งเป็นคนสมัยใหม่ด้วย

อย่างไรก็ดีในยกแรกจะเป็นการดูทรง ดูท่าที ซึ่งถ้าอ่านโผอย่างเดียวก็จะปลอดภัย มีปัญหาตามมาน้อย เนื่องจากเจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างประเทศจะเป็นผู้เขียนสุนทรพจน์ให้ ก่อนที่จะส่งให้เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลตรวจสอบอีกครั้ง หรืออาจจะทำงานร่วมกันไปเลยก็ได้

 

ทั้งนี้ผู้นำหลายคนไม่นิยมอ่าน แต่จะพูดเองเลย ตัวอย่างเช่นนายโดนัล ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ แต่ในเวทีที่สำคัญที่ทุกคำพูดจะถูกหยิบยกมาชั่งน้ำหนัก ถ้าอ่านก็จะปลอดภัย แต่ในทางกลับกันก็จะไม่มีความน่าตื่นเต้น เพราะบทสุนทรพจน์จะมีผู้สื่อข่าวอย่างนายสุทธิชัยได้อ่านมาก่อนแล้วซึ่งผู้นำบางคนอาจจะกล่าวนอกโผ สร้างความตื่นเต้น

— การประชุมยกที่ 1 —

 

แต่ทั้งนี้ในยกแรก ช่วง 90 นาทีแรก ที่เป็นเวทีเปิดการประชุม ตนเองคิดว่าแทบทุกคนจะอ่านหมด แต่จะอ่านอย่างเป็นธรรมชาติ หรือไม่ จะมีการใส่คำพูดของตัวเองสร้างความหวือหวาหรือไม่ ก็แล้วแต่สไตล์ของแต่ละคน ซึ่งช่วงนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ทุกคนก็จะท่องจำตามโผ 

 

พูดเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งโลก ความขัดแย้งในเมียนมา ประเด็นสมัยใหม่ ความไม่เท่าเทียม การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) และอาจจะพูดเสริมในเรื่องของภัยพิบัติ เนื่องจากมีปรากฏมากในช่วงเวลานี้ และอาจจะพูดถึงการช่วยเหลือประชาชนคนยากจน

 

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว สุนทรพจน์ในยกนี้จะเป็นสิ่งที่มีความสวยหรู ฟังแล้วสบายใจและมีความหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ค่อยมีเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนก ไม่มีการว่ากล่าวอะไรกัน โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน แต่ในวันสุดท้ายที่สหรัฐ รัสเซีย และจีนเข้าร่วมจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ทั้งนี้แต่ละปีจะมีการใช้เงินเป็นพันล้านสำหรับการประชุมอาเซียน ที่ถือว่าแพงมาก เนื่องจากต้องมีการระดมทีมงานเข้าร่วมการประชุม ในขณะที่ไม่ค่อยจะมีผลลัพธ์อย่างเป็นทางการมาก

— การประชุมยกที่ 2 —

รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าภายหลังช่วง 90 นาทีแรก จะมีการหยุดพักเพื่อถ่ายภาพร่วมกัน ก่อนที่จะเข้าสู่การพูดคุยแบบไม่มีโผ และไม่เป็นทางการ ซึ่งในบางครั้งไม่มีการใช้ล่าม ซึ่งเวียดนาม และเมียนมามักจะใช้ล่ามเป็นประจำ แต่หลายประเทศไม่ใช้

 

ยกที่ 2 จะมีการทดสอบขีดความสามารถกันในระหว่างผู้นำ โดยไม่มีนักข่าวเข้าไปร่วมฟัง (Off-Record) และผู้นำประเทศสามารถมีผู้ติดตามเข้าร่วมวงสนทนาได้ 1 คน ซึ่งตนเองเคยมีโอกาสได้เข้าร่วมวงสนทนาหลายครั้ง ซึ่งผู้นำแต่ละคนจะแสดงฝีมือกันอย่างเต็มที่ เปิดอกพูดคุยกัน ทำให้เกิดการประเมินกันเองในระหว่างผู้นำว่าใครเก่ง ไม่เก่งอย่างไร

 

การประชุมตรงนี้มีความสำคัญ เพราะผู้นำต่างชาติจะทราบทันทีว่านายกรัฐมนตรีของไทยจะเอาอย่างไรกับเรื่องเมียนมา ว่าไทยจะมีการผลักดันในเรื่องนี้หรือไม่ น้ำเสียง ท่าทางของนายกรัฐมนตรีไทยเป็นอย่างไร ใครจะผลักดันการเปิดรับผู้อพยพในเมียนมาไปอยู่ที่ไหน เท่าไร จะมีการทุบโต๊ะหรือไม่ มันต้องพูดกันตรงนี้

 

และเนื่องจากเป็นการประชุมแบบ Off Record ผู้สื่อข่าวจะไม่ทราบเลย เอาไปนินทาก็ไม่ได้ อาจมีการพูดคุยกันเรื่องที่มหาอำนาจส่งอาวุธเข้าไปในเมียนมา ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ไทย จะมีการดำเนินการอย่างไร ในการประชุมนี้

 

อีกทั้งยังอาจจะมีการพูดคุยกันเรื่องการส่งอาวุธให้กับยูเครน เนื่องจากบางประเทศในอาเซียนให้การสนับสนุนอาวุธให้แก่ยูเครนด้วย และไทยอาจจะถูกถามเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ว่าตกลงไทยจะยืนอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ ซึ่งคำตอบของไทยมีความสำคัญมาก

 

ในการพูดคุยรอบนี้ อาจจะไม่มีการไว้หน้ากัน หรืออาจจะมีการไว้หน้ากันบ้าง หากเป็นคนรู้จักกัน ซึ่งการที่ผู้ใหญ่ของครอบครัวมีความรู้จักกับผู้นำชาติอาเซียน ก็อาจจะได้รับการปฎิบัติอย่างนุ่มนวล อาจจะมีการพูดคุยกันนอกรอบมาแล้ว จนไม่มีการทุบโต๊ะก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้บุคคลภายนอกไม่อาจรู้ได้เลย

 

นายสุทธิชัยกล่าวว่า ตนเองคิดว่าจะต้องมีการล็อบบี้ก่อน โดยปกติจะมีทีมงานระดับปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีไปหารือล่วงหน้าก่อน ที่เรียกว่า SOM (Senior Official’s Meeting – การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส) ซึ่งท่านก็ทราบว่านายกฯ ของเราเป็นนายกฯ ใหม่ อาจจะมีการร้องขอให้ผู้นำชาติอาเซียนบางชาติ หารือร่วมกับนายกฯ ไทยก่อนล่วงหน้าก็สามารถทำได้ หรืออาจจะถามประเด็นที่ผู้นำชาตินั้น ๆ ต้องการจะถาม เพื่อให้นายกฯ ของไทยเตรียมการล่วงหน้า

 

รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าก่อนการประชุมจะมีคณะทำงานระดับอธิบดีเดินทางไปหารือระหว่างกันก่อนที่จะถึงรอบของ SOM ซึ่งเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวง ที่จะมีการตกลงกันว่าจะพูดคุยในเรื่องใ ไม่พูดคุยในเรื่องใด และจะมีการเจรจาแลกเปลี่ยนอะไรกัน

ซึ่งจะมีการตกลงกันในการประชุม SOM และข้อตกลงในระดับนี้ ไม่ค่อยจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในการประชุมระดับผู้นำ ยกเว้นผู้นำบางคนที่มีประวัติว่าพูดเกิน พูดขาด และพูดแล้วกำกวมกว่าที่ตกลงกันไปก็มี ซึ่งในกรณีนี้จะมีการขอคำยืนยันในภายหลังว่าตกลงจะเอาอย่างไร ซึ่งในบางกรณีก็ยืนยันได้ยาก

มีผู้นำอยู่ 2-3 คนที่มักจะพูดจากำกวม จนสร้างปัญหา ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเรื่องของภาษาหรือไม่ หรือเป็นความตั้งใจ ซึ่งเรื่องลักษณะนี้นั้นพิจารณาได้ยาก

 

นายสุทธิชัยกล่าวว่า ของไทยนั้นแล้วแต่นายกฯ ซึ่งถ้านายกฯ เป็นทหาร ก็มักจะระวังตัวไว้ก่อน ไม่ค่อยพูดอะไรมาก มักจะพูดตามที่ทีมงานส่งมาให้ แต่นายกฯ พลเรือนบางคนจะพูดสบาย ๆ พูดนอกบท หรือนายกฯ พลเรือนบางคนที่ไม่ช่ำชองในเรื่องการต่างประเทศนัก ก็จะระมัดระวัง มีทีมงานเขียนมาให้ และพูดตามโผ

 

นายสุทธิชัยแสดงความกังวลว่า น.ส. แพทองธารนี้ถือว่าใหม่มาก ไม่ใช่ทหาร ไม่ใช่อดีตนักการทูต ไม่ใช่อดีตนักการเมืองที่ช่ำชอง รศ.ดร.ปณิธานกล่าวว่า หากพูดตามโผ ปัญหาจะเกิดขึ้นน้อย ซึ่งมีข้อเสียว่าอาจจะไม่ได้อะไรใหม่ ๆ ติดมือกลับมาอย่างที่ฝ่ายการเมืองต้องการ แต่หากฝ่ายการเมืองต้องการผลักดัน ก็จะต้องมีการเตรียมตัวกันให้ดี

 

รศ.ดร. ปณิธานกล่าวถึงกรณีที่นายสุทธิชัยกล่าวถึงลักษณะของนายกฯ ที่เคยเป็นทหาร โดยยอมรับว่าส่วนใหญ่นายกฯ ที่เคยเป็นทหารมักจะเป็นเช่นนั้น ไม่ค่อยพูดนอกบท แต่ตนเองเคยเข้าร่วมประชุมกับอดตนายกฯ ที่เคยเป็นทหารท่านหนึ่ง ซึ่งผิดคาดไปจากที่คิดมาก

 

“นายกฯ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) บอกว่าไม่ต้องใช้ล่ามเดี๋ยวผมคุยเอง ก็คุยกับนายกรัฐมนตรีของอาเซียน โดยที่ผมยังงเลย! คุยกันแบบรู้เรื่องเลย! เราก็กลัวว่าเอ๊ะ! ยังไงกันแน่ แต่ว่าก็คุยกันดี แล้วก็ดูสนิทกันพอสมควร ให้เกียรติกัน

เหลือเชื่อ! ประเทศหนึ่งที่เคยบ่นว่าเรา พอคุยกับผู้นำทหารเราคนหนึ่งที่เป็นอดีตทหาร (ปรากฏว่า) คุยดีมาก แล้วคืนนั้นท่านก็ไปงานประชุมใหญ่ของสิงคโปร์ ของแชงการีลา (แชงการีลา ไดอะล็อก ปี 2559) แล้วก็ไปกล่าวสุนทรพจน์เรื่องเกี่ยวกับสมดุลใหม่ทางยุทธศาสตร์ ก็เป็นไปได้ดี” รศ.ดร. ปณิธานกล่าว

 

รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าทั้งนี้ทีมงานจะต้องเตรียมตัวให้ดี ซึ่งถ้าหากไทยจะเสนอให้ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน ก็จะต้องเตรียมการกันให้ดี นายสุทธิชัยหยุ่นกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นเราก็ต้องมีแผนการไปนำเสนอ อีกทั้งเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องทุนจีนสีเทา

 

รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่ามีอยู่ 2-3 ประเทศที่กำลังดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ ซึ่งไยต้องให้ความช่วยเหลือเขาในการดำเนินการต่อต้านยาเสพติดให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้นั้น ไม่สามารถรับมือกับปัญหายาเสพติดได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ไทยจะสามารถส่งกองกำลังไปช่วยเขาได้หรือไม่ อีกทั้งยังมีกองกำลังอาสาสมัครของบางประเทศที่อาสาจะให้ความช่วยเหลือด้วย

เรื่องเหล่านี้มีความซับซ้อนจนตนเองยังวิเคราะห์แทบไม่ออก มีความลึกซึ้ง หน้างานอย่างหนึ่ง แต่ไปพูดอีกอย่างหนึ่ง ในพื้นที่ก็อย่างหนึ่ง เบื้องหลังก็อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในจุดนี้จะต้องระวัง

 

โดยสรุปแล้วหากนายกรัฐมนตรีพูดตามโผก็จะไม่มีเรื่องเสียหาย แต่ถ้าเพิ่มได้ ให้มันถูกต้อง จะลวดลายที่ผู้นำอาเซียนเห็นว่านายกฯคนนี้มีความสามารถ อย่าไปดูถูก ประมาทไม่ได้ ซึ่งถ้าหากกลับมาในลักษณะนี้จะได้รับการยกย่องกลับมาแน่ และประเทศไทยไม่เสียเปรียบ

 

— ทักษิณจะมีบทบาทอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ? —

นายสุทธิชัยกล่าวว่า โดยปกติแล้วจะมีทีมงานของกระทรวงต่างประเทศให้การสนับสนุนนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ แต่ตนไม่แน่ใจว่า น.ส. แพทองธารจะรับฟังมากเพียงไร เพราะ น.ส. แพทองธารมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบิดาคอยให้คำปรึกษาเรื่องการต่างประเทศอยู่ที่บ้าน และด้วยความเป็นห่วงลูกสาว นายทักษิณอาจจะโทรศัพท์ไปล่วงหน้าก่อนก็เป็นได้ ซึ่งนี่จะถือเป็นการทูตในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

 

รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าถ้าหากมีการฝาก ก็อาจจะมีการยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนก็ได้ แล้วแต่ธรรมเนียม บางผู้นำก็มีความใกล้ชิด เป็นครอบครัว ซึ่งเรียกว่าราชวงศ์การเมือง (Political Dynasty) ซึ่งครอบครัวในสหรัฐก็มีหลายครอบครัว เช่นครอบครัวบุช, เคนเนดี และเพโลซี่ ในอังกฤษมีน้อยหน่อย ส่วนฟิลิปปินส์มีหลายครอบครัวเช่นมากอสและ อาโรโย่ อินโดนีเซียก็มี เขาก็ฝากกันไปฝากกันมา แต่งงานกันก็มี ในยุโรปก็มีหลายประเทศ 

 

นายสุทธิชัยกล่าวว่าที่อื่นเขาให้ลูกเขาฝึกมาก่อน ผ่านอะไรมาพอสมควรก่อนที่จะได้ลงไปในสนามใหญ่ แต่ของเรานี่โยนลงไปในสนามใหญ่เลย ตรงนี้ต่างกัน อีกทั้งนายกฯ คนใหม่นั้น บางเรื่องก็ยังไม่คุ้นชินเท่าไร อยู่ในตำแหน่งเพียงเดือนเศษๆ ก็โยนลงไปในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเลย อีกทั้งยังจะต้องไปเจอกับ Dialog Partner ซึ่งจะมีผู้นำจากต่างประเทศกว่า 20 ประเทศเข้าร่วมด้วย

รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า น.ส. แพทองธารจะไม่ไปก็ได้ เพราะในประเทศไทยยังมีเรื่องภัยพิบัติ และเรื่องการอัดฉีดเงิน (ดิจิทัล วอลเล็ต) ที่มีความน่าเป็นห่วง ซึ่งจะไม่ไปก็ได้ และการที่ น.ส. แพทองธารขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ นั้นไม่ใช่ความผิดของใคร เนื่องจากมีการวางแผนกันว่าต้องใช้เวลาเรียนรู้ 

 

แต่เผอิญมีเรื่องคดีความ การตัดสิน (การตัดสินคดีให้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีพ้นสภาพนายกรัฐมนตรี) ซึ่งในแง่หนึ่งก็มีความน่าเห็นใจ แต่ในเมื่อเตรียมตัวมาแล้ว และเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองมาแล้วตั้งนาน ก็ต้องเตรียมตัว

 

— นายกฯ จะต้องเผชิญหน้ากับอะไรในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน —

 

รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าการไปหรือไม่นั้น การตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุมที่สหประชาชาติ ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี แต่การประชุมอาเซียนนั้นจะต้องมีการพิจารณา เพราะมีทุกปี และเวลานี้ถือว่ามีความกระชั้นชิด 

 

ถ้าฝึกอ่านสุนทรพจน์ได้ดี และฝึก Retreat (ผ่อนคลาย) มีประเด็น มีโผว่าจะต้องไปผลักดันอะไร ซึ่งจะพูดผ่านล่ามก็ได้ สมเด็จฮุน เซ็น (อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานสภาสูงของกัมพูชา) เองก็พูดผ่านล่ามตลอด แต่มีประเด็นเข้มข้นตลอดเวลา และพูดนาน ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

 

นอกจากนี้ ในการประชุมนั้นเป็นวงผิด ผิดถูกอย่างไร ผู้สื่อข่าวก็ไม่ทราบ ยกเว้นว่าจะมีใครทำมาเล่าให้ฟัง แต่สิ่งสำคัญคืออย่าให้ขามองว่าเราเป็นเด็ก ไม่มีความสามารถบนเวทีวันแรก แต่ว่าวันที่ 2 และ 3 ก็ยังคงมีความน่าเป็นห่วงอยู่

 

ยก 2 จะมีประเด็นอีกมากที่จะต้องแสดงวิสัยทัศน์ออกมา จะต้องมีการพบกับผู้นำ และอาจจะต้องไปพบกับภาคธุรกิจ อีกทั้งยังมีเรื่องที่จะต้องหารืออีกหลายเรื่อง ซึ่งเรื่องใหญ่ ๆ คือเรื่องความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์ ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ ไม่ว่าจะเรื่องความขัดแย้งกับจีน และรัฐบาลใหม่ของสหรัฐซึ่งจะมีการตั้งกำแพงภาษีกับจีนแน่นอน ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องมีการพูดคุย

 

อีกทั้งยังมีการพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ทางสังคม เรื่องไซเบอร์ เรื่องสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งแต่ละเรื่องจะเป็นเรื่องที่ยาว และมีการลงรายละเอียด

 

— ยกที่ 3 วันสุดท้าย คือวันที่หนักที่สุด —

 

รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า ยิ่งในวันสุดท้ายจะยิ่งหนัก เพราะจะต้องไปเจอกับผู้ที่เก๋าเกมที่สุดในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็คือตัวแทนจากสหรัฐ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ บวกอีก 8 ใน East Asia Summit (การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก 18 ประเทศ) ซึ่งหนักที่สุด

 

จะมีการลงรายละเอียดลึกลงไปอีกว่าเหตุใดไทยจึงทำเช่นนี้ เหตุในไทยไป BRICS เหตุใดไทยไม่สนับสนุนยูเครน เหตุในไทยทำเช่นนี้ในเมียนมา ซึ่งไทยจะต้องตอบให้ดี และจะต้องร่วมมือกับอาเซียนในการตอบ บางประเทศมีความใกล้ชิดกับตะวันตกอยู่แล้ว

 

ทั้งหมดเหล่านี้ จะเป็นบทพิสูจน์ 3 ยก โดยในยกแรกในวันแรก ยกที่ 2 ในระหว่างการประชุม และยกที่ 3 คือวันสุดท้าย

 

— จะบอกว่าไทยไม่ขัดแย้งกับใครได้หรือไม่ —

 

นายสุทธิชัยถามว่า นโยบายการต่างประเทศที่นายมาริษ เขียนย่อและนำขึ้นในโซเชียลมีเดียนั้นเพียงพอหรือไม่ รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า ไม่น่าพอ และที่บอกว่าไทยจะไม่ขัดแย้งกับใครนั้น จะทำให้วงแตก เพราะว่าเขาขัดแย้งกันอยู่ 

 

หากกล่าวเช่นนั้น เราจะถูกดีดออกไป ลองดูว่ามีใครประกาศว่าจะไม่เป็นพวกใครเลยได้หรือไม่ และเรื่องนี้ต้องระวังแต่เพื่อความเป็นธรรมกับกระทรวงต่างประเทศ เขาใช้คำว่า “Non Conflict (ไม่มีความขัดแย้ง) ” แต่มันมี Conflict (ความขัดแย้ง) อยู่แล้วระหว่างสหรัฐกับจีน

 

นายสุทธิชัยกล่าวว่าตนเองไม่เคยได้ยินคำว่า Non Conflict ในภาษาการทูต เคยได้ยินแต่คำว่า “Neutral (เป็นกลาง)”  “Non-Confrontational (ไม่เผชิญหน้า)” แต่การใช้คำว่า Non Conflict ไม่มีความขัดแย้งนั้น แต่ในความเป็นจริงนั้นมีความขัดแย้ง จะบอกว่าไม่มีได้อย่างไร

 

รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่ามันมาคู่กับสันติภาพ War and Peace (สงครามและสันติภาพ) มันมาคู่กันในระบบเป็นหลายร้อยหลายพันปีแล้ว เราจะบอกว่าเราไม่เอาเลยนั้น ในทางปฎิบัติมันไม่ใช่ เราลงมติประณามรัสเซีย (กรณีที่รัสเซียบุกรุกเข้าไปในยูเครนด้วยกำลัง) ไปแล้ว ในทางการทูตอย่างเป็นทางการถือว่าเราคนละพวกกับรัสเซีย เราจะบอกว่าเราไม่เกี่ยวข้องไม่ได้

 

ในฉนวนกาซ่า (พื้นที่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล กับประเทศรอบข้าง) เราไม่ทราบว่าเหลือตัวประกันอยู่เท่าไร แต่ถ้าเราไม่จัดการกับการจับคนไทยเป็นตัวประกัน และทำให้คนไทยเสียชีวิต ซึ่งการบอกว่าเราไม่มีความขัดแย้งจะทำให้ไทยตอบลำบากว่าเราจะเอาอย่างไร 

 

ฮามาส (กลุ่มต่อต้านอิสราเอล) เป็นศัตรูกับไทยจากการจับคนไทยเป็นตัวประกัน เราจะบอกว่าเราไม่มีความขัดแย้ง จับคนไทยไปเถอะไม่ได้ และถ้าหากกลุ่มฮามาสเดินทางมาประเทศไทย ก็ต้องดำเนินการจับกุม ซึ่งทางการไทยนั้นมีรายชื่ออยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราบอกว่าไม่มีความขัดแย้ง แล้วไม่จับ ก็จะมีเรื่องขึ้นมาอีก เรื่องเหล่านี้นั้นมีปัญหาในเชิงปฎิบัติเยอะว่าจะไปอย่างไร

 

— ความขัดแย้งระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ ประเด็นอันตรายที่อาจทำให้ไทยต้องเข้าสู่สงคราม —

 

นายสุทธิชัยกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ และไม่รู้ว่าตัวแทนจากทั้ง 2 ประเทศนี้จะพูดคุยกันอย่างไรในการประชุมครั้งนี้ รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าไทยต้องรีบคุยกับฟิลิปปินส์เลย เพราะว่าเป็น 3 ประเทศ (ไทย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐ) ที่จะต้องป้องกันร่วมกันตามสนธิสัญญามะนิลา 

 

(องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถึงแม้ว่าจะมีการยุบองค์กรไปแล้วในปี 2520 เนื่องจากสหรัฐแพ้สงครามในเวียดนาม, ลาว และกัมพูชา แต่ข้อบังคับในการป้องกันร่วมกันนั้นยังคงอยู่)

 

เราต้องกระซิบบอกฟิลิปปินส์เลยว่าเบา ๆ หน่อย เพราะถ้าฟิลิปปินส์กับจีนก่อสงครามระหว่างกัน ไทยจะต้องถูกลากเข้าไปด้วย ไทยจะต้องส่งสัญญาณอย่างเด็ดขาดไม่ให้ฟิลิปปินส์ไปยั่วจีน และในขณะเดียวกันไทยก็ต้องไปบอกจีนไม่ให้ทำเช่นนั้นกับฟิลิปปินส์ด้วย เพราะถ้าเกิดสงครามระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ ไทยเองก็ต้องอยู่ฝ่ายฟิลิปปินส์ตามสนธิสัญญาร่วมระหว่างสหรัฐ-ฟิลิปปินส์-ไทย

 

และถ้าหากเกิดสงครามระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน ฟิลิปปินส์ก็จะดึงทั้งไทยและสหรัฐเข้ามาข้องเกี่ยวให้ได้ ซึ่งถ้าไทยบอกว่า Non Conflict ทั้งสหรัฐและฟิลิปปินส์ก็คงตั้งคำถามว่าไทยจะเอาอย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้เป็นรายละเอียดซึ่งควรจะให้กระทรวงต่างประเทศเป็นผู้แนะนำ

 

— ควรจะมีทีมงานจากกระทรวงต่างประเทศไปด้วยหรือไม่ —

 

นายสุทธิชัยกล่าวว่าในเรื่องนี้ ไม่ทราบว่า น.ส. แพทองธารทราบมาเพียงใด ในขณะที่นายมาริษนั้นมีประสบการณ์ในเรื่องนี้น้อย เนื่องจากนายมาริษนั้นส่วนใหญ่เป็นทูตในต่างประเทศ และไม่เคยเข้ามาวางนโยบายต่าง ๆ ดังนั้นควรจะให้ปลัดกระทรวงเข้ามาประกบหรือไม่ เพื่อการให้คำแนะนำหากมีการตั้งคำถามในลักษณะนี้เกิดขึ้น

 

รศ.ดร.ปณิธานแนะนำว่าให้นำมาทั้งกระทรวงเลย และควรจะนำผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศไปด้วย จะได้ช่วยกันดู เพราะเรื่องนี้มีความน่าเป็นห่วงมาก เพราะต้องมีลวดลาย หากสหรัฐและฟิลิปปินส์จะกดดันให้ไทยเผชิญหน้ากับจีนผ่านสนธิสัญญามะนิลา จะต้องมีทางหนีทีไล่ อย่าให้ติดกับดัก 

 

แต่ทั้งนี้จะพูดว่า Non Conflict ไม่ได้ เราจะต้องพูดอีกอย่าง เราเคยพูดอีกอย่างและได้ผลดี ในเรื่องนี้กระทรวงต่างประเทศทราบดีว่าจะต้องทำอย่างไร

 

นายสุทธิชัยกล่าวว่า ปัญหาในเวลานี้คือมีเวลาน้อย ยังไม่สามารถสรุปให้นายกฯ และ รมว. ต่างประเทศเข้าใจได้มากเพียงพอ รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า ที่จริงในเวลานี้ควรจะเข้าไปสรุปให้เข้าใจทุกวัน แต่เรื่องการต่างประเทศนั้นถูกจัดลำดับความสำคัญให้เป็นลำดับท้าย ๆ และไม่สำคัญ 

 

นายสุทธิชัยกล่าวว่าทำเช่นนี้ไม่ได้ เพราะนายกฯกล่าวไว้แล้วว่าจะมีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องน้ำท่วม นอกจากนี้เรื่องยาเสพติด, ทุนสีเทา, แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้านทั้งหมด 

 

รศ.ดร. ปณิธานถามว่า ใครคุมแม่น้ำรวก? (แม่น้ำที่มีต้นกำเนิดในประเทศลาว ไหลผ่านเมียนมา เข้าสู่ประเทศไทยที่ อ. แม่สาย จ. เชียงราย และไหลรวมกับแม่น้ำสายในประเทศไทย)  นายสุทธิชัยกล่าวว่าชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง รศ.ดร.ปณิธานกล่าวต่อว่า ก็ต้องไปคุยกับเขา 

 

แต่รัฐบาลทหารเมียนมาจะให้คุยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดได้ยาก ต้องระมัดระวังให้ดี ก่อนจะพูดต้องพิจารณาว่าจะทำได้หรือไม่ บางทีเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ หรือทำได้ยาก แล้วไปสร้างความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความลำบากให้ประเทศไทย

 

ทั้งหมดเหล่านี้อยู่ที่รายละเอียด คนที่รู้เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นกังวลพอสมควร ดังนั้นต้องซักซ้อมให้ดี รศ.ดร. ปณิธานกล่าว

 

— ฝ่ายความมั่นคงต้องไปเข้าร่วมด้วยหรือไม่ —

นายสุทธิชัยถามว่าฝ่ายความมั่นคงไปด้วยหรือไม่ และจะต้องมีหรือไม่ รศ.ดร.ปณิธานกล่าวว่ามี การประชุม ASEAN Regional Forum หรือ ARF (การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) นั้นเป็นเวทีที่มีความชัด และเป็นเวทีที่ทุกประเทศจะมาเข้าร่วมทั้งหมด แม้แต่เกาหลีเหนือก็มา ซึ่งของไทย โดยปกติ รมว. ต่างประเทศจะไปเข้าร่วม แต่ในครั้งนี้นายมาริษ น่าจะไม่ได้ไป

 

ซึ่งการประชุม ARF จะเกิดขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดฯ ซึ่ง รมว. ต่างประเทศน่าจะมีตัวแทน หรือได้รับการบรรยายสรุป ซึ่งจะต้องนำผลการประชุม ARF มาใช้ประโยชน์ เนื่องจากไม่มีความแตกต่างกันสักเท่าไร อีกทั้งในช่วงนี้จะต้องระมัดระวังในเรื่องความมั่นคงให้มากหน่อย เพราะมันมีปัญหาเพิ่มขึ้นมาเยอะ

 

ในเมียนมามีปัญหาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาก จีนเพิ่งทำการซ้อมรบด้วยกระสุนจริง กดดันกองกำลังต่าง ๆ (ในเมียนมา) กดดันให้ชนกลุ่มน้อยให้ทะลักมาทางฝั่งไทยเยอะ ต้องหารือกับจีนให้ดี ๆ และน่าจะมีการหารือนอกรอบกับจีนในเรื่องนี้

 

และถ้าจะปราบยาเสพติด ก็ต้องหารือกับจีน เกี่ยวกับกลุ่มว้า และต้องนำข้อตกลงมาเปิดเผยให้คนไทยได้รับทราบ นายสุทธิชัยกล่าวว่า ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านในกองทัพ และกองกำลังความมั่นคง ซึ่งถือว่าน่ากังวล มีการเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ. และ ผบ.ทร. 

 

— นายกฯ แพทองธาร ควรไปร่วมประชุมหรือไม่ —

 

นายสุทธิชัยกล่าวว่า หากนายกฯ ไม่ไป ประเทศไทยอาจจะเสียผลประโยชน์ เพราะไทยจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงกับอาเซียน และ (ASEAN) Dialog Partner (คู่เจรจาอาเซียน 9 ประเทศ) ด้วย รศ.ดร.ปณิธานกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการตัดสินใจของผู้นำที่ต้องชั่งน้ำหนักว่าไหวหรือไม่ และถ้าไปแล้วจะได้อะไรกลับมา ซึ่งถ้าได้มากกว่าเสียก็ควรจะไป เพราะเป็นผลประโยชน์ของประเทศ

 

แต่ถ้าดูแล้วจะให้น้ำหนักกับชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องน้ำท่วมซึ่งจะตามมาอีกหลายยก อีกทั้งยังมีเรื่องการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในขณะนี้นั้นเข้าขัดวิกฤตมาก นายกฯ จะไม่ไปก็ได้

 

นายสุทธิชัยกล่าวว่า การประชุมจัดที่เวียงจันทน์ ไม่ถือว่าไกล สามารถบริหารได้ ทุกวันนี้เทคโนโลยีเอื้ออำนวย น่าจะบริหารได้อยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่นายกฯ พร้อมแค่ไหนในเวทีโลก แต่ตนเองคิดว่านายทักษิณน่าจะมีแผนในเรื่องนี้ ก่อนที่จะถามว่านายทักษิณแอบไปกินกาแฟแถวนั้นได้หรือไม่

 

รศ.ดร. กล่าวว่าถือเป็นเวทีที่ถนัดสำหรับนายทักษิณ เพราะนายทักษิณเริ่มต้นชีวิตการเมืองด้วยการเป็น รมว. ต่างประเทศ (2537 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย) ซึ่งในบางช่วงก็ทำได้ดี มีคนชอบ และทำให้คนไทยได้สัมผัสกับการทูตได้มากขึ้น

 

นอกจากนี้นายทักษิณมีความคุ้นเคยกับการค้าการลงทุนในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว ถึงแม้ว่านายทักษิณจะมีคู่แข่ง และศัตรู แต่ก็ถือว่ามีประสบการณ์ อีกทั้งน่าจะได้รับความเห็นใจจากผู้นำอาเซียนหลายประเทศ เนื่องจากในอาเซียนมีประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยก็เยอะ ที่ลำบากก็มาก

 

อีกทั้งบุคลิกในลักษณะนี้ผู้นำอาเซียนหลายคนชอบ มีความขึงขัง ใจนักเลงและใจถึง ซึ่งเป็นลักษณะของผู้นำจริง ๆ ตามตำรา ทำให้ผู้นำหลายประเทศรู้สึกว่าคุยได้ คุยรู้เรื่อง ชอบคุย ทำให้เป็นโอกาสดีในเรื่องการต่างประเทศ แต่ว่าไม่สามารถถ่ายทอดกันให้ได้ทั้งหมด

 

เนื่องจากในการประชุม Retreat (ยกที่ 2) นั้น นายกฯ จะต้องเข้าไปพูดคุยด้วยตัวเองคนเดียว พร้อมผู้ติดตาม 1 คน ซึ่งจะต้องอาศัยความสามารถส่วนตัวจริง ๆ

 

และเมื่อไปพบกกับตัวแทนสหรัฐ ซึ่งมักจะชอบแกล้ง แกล้งถามในสิ่งที่เราไม่อยากตอบ ตอบไม่ได้ หรือไม่ควรตอบ สิ่งดี ๆ มักจะไม่ถาม อีกทั้งยังถามทั้ง ๆ ที่รู้ด้วยว่าเราไม่อยากตอบ เพราะเราสุภาพ เรียบร้อย ยกเว้นผู้นำบางคนที่นักเลง ก็อาจจะตอบกลับไปก็มี

 

อย่างไรก็ดี เวทีนี้ค่อนข้างที่จะหมิ่นเหม่ ที่จะทำให้เขาทราบลึกตื้นหนาบางของไทย รู้ถึงความเข้มแข็ง-อ่อนแอ ของไทย และจะส่งผ่านมายังหน่วยงานต่าง ๆ ของเขา ว่าจะเจาะเข้าประเทศไทยอย่างไร ดังนั้นทีมงานของไทยจะต้องช่วยกันดูให้ดี ๆ

 

ทั้งนี้ความสัมพันธ์ที่เป็นครอบครัวนั้น บางครั้งก็ย้อนแย้ง ซึ่งต้องระวังให้ดี ยกตัวอย่างเช่นถ้าหาก น.ส. แพทองธารประสบความสำเร็จกลับมา ก็จะมีการกล่าวอ้างว่าประสบความสำเร็จเพราะนายทักษิณ ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องยอมรับความจริงว่ามีความเห็นต่างได้หลากหลาย 

 

การต่างประเทศนั้นลึกซึ้ง มีเงื่อนงำหลายอย่างที่เราอาจจะไม่เห็นทั้งหมด และบางครั้งก็มีการเจรจานอกรอบกันไปแล้ว และมีการต่างตอบแทนกันไป โดยยกตัวอย่างสหรัฐกับรัสเซียที่มีการเจรจานอกรอบกันบ่อยครั้ง ซึ่งในบางครั้งมาเจรจากันที่ประเทศไทย ทั้งในเรื่องยูเครนและฮามาส

 

ดังนั้นต้องรอดู ถ้าไปแล้วสำเร็จเราก้สบายใจ อย่างน้อย ๆ ก็มาดูแลปัญหาภายในได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องไปกังวล แต่ทั้งนี้ไม่อยากให้เดินทางไปต่างประเทศเยอะ เนื่องจากหลายคนเป็นห่วง เนื่องจากว่า 2-3 ผู้นำของเรานั้นเดินทางไปต่างประเทศเยอะ มีค่าใช้จ่ายเยอะ แต่น้ำหนักของผลงานมันไม่ตามความถี่ที่ไป ดังนั้นก็ให้พอดี ๆ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

 

— นายกฯ ควรเตรียมการอย่างไร —

นายสุทธิชัยถามว่า นายกฯ ควรจะเตรียมการอย่างไร ก่อนไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดฯ รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า

1 ทุกท่านที่จะไปเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้นั้น ขอให้เตรียมตัวตามขั้นตอนที่กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนำเสนอให้ดี ต้องมีการประชุมในเรื่องนี้ให้ดี ให้ชัด อย่าให้เกิดข้อขัดแย้ง แล้วก็ซักซ้อมให้ดี สรุปว่าถ้าไม่นอกโผก็ปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว

 

2 ต้องไปคิดเพิ่มเติมว่าในฐานะผู้นำจริง ๆ จะต้องทำอะไรเพิ่มเป็นพิเศษกว่าที่ระบบราชการเสนอหรือไม่ มันต้องมี มันต้องทำ ซึ่งมีเรื่องสำคัญอยู่ 2-3 เรื่อง เช่นเรื่องความขัดแย้งในเมียนมาซึ่งใกล้ตัวมาก เรื่องน้ำเรื่องเขื่อนของเพื่อนบ้าน เรื่องแนวชายแดนภาคใต้ และเรื่องความร่วมมือในทะเลจีนใต้ที่จะไม่ขัดแย้งกับจีนและสหรัฐ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องเอาไทยไปชูธง ให้เขามองว่าไทยเป็นผู้นำในการผลักดันในประเด็นเหล่านี้

3 อย่าลืมว่าต้องเอาเศรษฐกิจ และการค้ากลับมา คืนกำไรให้ประชาชนชาวไทยด้วย ไปแล้วค้าขายด้วย ไปแล้วไปผลักดันเงื่อนไขที่ยังติดขัดอยู่ รศ.ดร. ปณิธานกล่าวอ้างคำพูดของ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่กล่าวว่าโดยส่วนใหญ่แล้วชาติอาเซียนมักจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งถ้าไปช่วยจี้ให้เขาทำตามข้อตกลงด้วย เช่นเรื่องข้อตกลงชายแดนไทย-มาเลเซียที่ต้องไปจี้

 

เพื่อนำเอากำไรกลับมาให้คนไทยสามารถเดินทางไปทำงานได้สะดวก ได้รับการลดหย่อนภาษี ซึ่งอาเซียนมีเขตการค้าเสรี (FTA) อยู่แล้วแต่ไม่ทำตาม หรือทำตามน้อยมาก ควรจะนำอะไรกลับมาให้ประชาชนอุ่นใจก็จะเป็นเรื่องที่ดี

 

— นายกฯ ควรพูดภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ–

นายสุทธิชัยถามว่านายกฯ ควรจะพูดเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษดี รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าหากจะคุยรายละเอียดแล้วจะยาว แต่โดยสรุปแล้ว ให้เลือกตามที่ถนัด มีปัญหาน้อย และปลอดภัยจะดีที่สุด เนื่องจากว่าแต่ละคำนั้น ถูกสื่อออกมาแตกต่างกันในวงการการทูต การเมืองระหว่างประเทศ และความมั่นคง

 

การสื่อกันนั้นไม่ใช่ภาษาพูด แต่เป็นอีกภาษาหนึ่ง มันมีภาษาของมันเอง น้ำหนักของมันจะแตกต่างกัน ถึงแม้ว่าเราจะพอพูดภาษาอังกฤษได้ แต่นี่เป็นคนละเรื่อง แม้แต่ตนเองยังใช้ล่าม เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก

 

นายสุทธิชัยกล่าวว่า ในการประชุมจะมีการจดบันทึกคำพูดเอาไว้ ซึ่ง น.ส. แพทองธารยังไม่ชำนาญ และสันทัดกรณี จึงควรจะใช้ล่าม ซึ่งถ้าหากมีข้อผิดพลาดสามารถกล่าวโทษล่ามได้ รศ.ดร.ปณิธานกล่าวเสริมว่า เราสามารถโทษล่าม และเปลี่ยนล่ามได้ อีกทั้งล่ามนั้นมีความเป็นมืออาชีพ พร้อมรับผิดชอบอยู่แล้ว

 

อีกทั้งทำให้ น.ส. แพทองธารมีเวลาพักหายใจ ได้คอยปรับ และถ้ายิ่งมีความรู้ในภาษาอังกฤษ ก็ควรคอยฟังสิ่งที่ล่ามแปลว่ามีความถูกต้องหรือไม่ และขอแก้ไขได้ ซึ่งตนเองเคยเห็นอดีตนายกฯ แก้ล่าม เสริมให้ล่ามมาแล้ว โดยอาจจะเน้นโทนเสียงให้เข้ม  บางครั้งล่ามอาจจะแปลให้เป็นภาษาธรรมดาทั่วไปเพื่อไม่ให้มีปัญหา แต่อดีตนายกฯ ต้องการมีปัญหาก็สามารถทำได้





เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า