Newsสหรัฐโหวตช๊อกโลก ไม่ร่วมประณามรัสเซีย ทิศทางการจัดระเบียบโลกใหม่ของสหรัฐภายใต้นโยบาย “Make America Great Again”

สหรัฐโหวตช๊อกโลก ไม่ร่วมประณามรัสเซีย ทิศทางการจัดระเบียบโลกใหม่ของสหรัฐภายใต้นโยบาย “Make America Great Again”

สะเทือนโลกกันไปเมื่อวันก่อน กลางเวทีประชุม UNGA ที่นิวยอร์ค หลังจากที่สหรัฐอเมริกาโหวต “Against” กับการประณามรัสเซียในการใช้กำลังเข้ารุกรานยูเครน เป็นการโหวตไปในทิศทางเดียวกับรัสเซียและเกาหลีเหนือ เรียกได้ว่าเป็นการโหวตที่ “ช๊อกโลก” กันไปตามๆกัน 

แน่นอนว่าหลังจากการโหวต เสียงวิจารณ์จากทั่วทุกมุมโลกก็ดังกึกก้องขึ้น ทั้งจากภายในสหรัฐเองที่หลายคนออกอาการหัวเสีย “รับไม่ได้” กับสิ่งที่เห็น เพราะถือว่าเป็นการขัดแย้งกับคุณค่าที่สหรัฐยึดถือและยึดมั่นมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องของ “เสรีภาพ และ ประชาธิปไตย” บ้างก็ตั้งคำถามว่า หรือว่า “ระเบียบโลกใหม่” กำลังจะเกิดขึ้น บ้างก็เลยไปถึงขั้นว่านี่คือความเป็น “เผด็จการ” ของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะทำลายโลกเสรีหรือไม่?

วันนี้จะพาทุกท่านไปวิเคราะห์ประเด็นนี้กัน 

เมื่อพูดถึงการเมือง หัวใจสำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนการเมือง ไม่ว่าจะภายในหรือระหว่างประเทศ ก็คือ “ผลประโยชน์” ก่อนจะตีโจทย์การเมืองทุกครั้งต้องยึดข้อนี้เป็นตัวตั้งไว้ก่อน ดังนั้น เราจะตั้งสมมติฐานในกรณีไว้ก่อนว่า การโหวตของสหรัฐนั้น “ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นสำคัญ”

แล้วเหตุไฉน สหรัฐจึงโหวตสวนประชาคมโลกเช่นนี้? 

ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า นี่อาจเป็นกลยุทธ์ใหม่ของสหรัฐที่นำโดยโดนัลด์ ทรัมป์ ในการที่จะควบคุมระเบียบโลก

เพราะสิ่งหนึ่งที่ทรัมป์พูดอยู่เสมอคือเรื่องนาโต้ ที่ทรัมป์มองว่าเป็นการเอาเปรียบสหรัฐมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านงบประมาณที่สหรัฐ “ออกเงิน” มากที่สุด สำหรับทรัมป์ นาโต้ จึงเป็นเหมือนเวทีที่สหรัฐ “อุ้ม” ประเทศยุโรปมาตลอด ในขณะที่มองว่าประโยชน์ที่สหรัฐได้นั้นน้อยเกินไปและไม่คุ้มค่า 

ซึ่งก็ไม่แปลกที่จะคิดเช่นนั้น เพราะถ้าย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า นาโต้ ถูกสร้างมาเพื่อช่วยปกป้องประเทศในยุโรปจริงๆ เป็นความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Collective Security ที่หมายความว่า ภัยคุกคามต่อสมาชิกคนใดคนหนึ่ง จะถือเป็นภัยคุกคามของทุกสมาชิก และทุกสมาชิกจะต้องช่วยเพื่อนสมาชิกที่ถูกคุกคาม เมื่อสหรัฐอยู่ในกลุ่มนี้นั่นจึงหมายความว่า ใครมาแหยมกับสมาชิกนาโต้ นั่นหมายความว่าแหยมกับสหรัฐโดยตรง และสหรัฐจะต้องแอคชั่น นั่นเอง 

นี่คือเหตุผลที่ ประเทศยุโรปหวงแหนนาโต้ และทำให้ยูเครนอยากเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนาโต้ เพราะนั่นหมายถึงหลักประกันด้านความมั่นคงที่จะมี “พี่ใหญ่” อยู่ข้างหลัง และแน่นอน ภัยคุกคามหลักของนาโต้ ก็คือรัสเซีย 

มองดูกันให้ดีๆ จะเห็นว่า โดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะรู้ดีว่า สหรัฐ “มีค่า” ในสายตาของยุโรป การโหวตเช่นนี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า “สหรัฐไม่ใช่ของตายนะจ๊ะ ไม่ใช่ฉันจะต้องไปอุ้มเธอตลอดเวลา แต่เป็นเธอต่างหากที่ต้องวิ่งเข้ามาหาฉัน ยื่นผลประโยชน์ให้ฉันแบบคุ้มค่า ฉันจึงจะให้การปกป้องพวกเธอ” เพราะที่ผ่านมาโดยตลอดนับจากสงครามเย็น ยุโรปและสหรัฐมีศัตรูคนเดียวกัน นั่นคือ รัสเซีย จึงทำให้สหรัฐและประเทศยุโรปหลายประเทศต้องพึ่งพากันและกัน จนทำให้หลายประเทศสามารถเป็น “ฟรีไรเดอร์” ได้อย่างที่ทรัมป์เคยบอกไว้ เพราะอย่างไรเสียสหรัฐก็ยังกังวลเกี่ยวกับรัสเซีย 

ดังนั้น การโหวตไปทางเดียวกับรัสเซียในงวดนี้จึงเป็นข้อความที่มีพลังอย่างมาก (โดยเฉพาะต่อประเทศในยุโรป) ในการบอกว่าความคิดดังกล่าว “อาจไม่จริงเสมอไป” โดยเฉพาะในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ 

เป็นการบอกว่า รัสเซีย ฉันก็คุยได้ เอาอยู่ แถมยังเจรจาเอาผลประโยชน์ได้ด้วย ไม่ต้องพึ่งพาพวกเธอให้เสียตังค์เหมือนแต่ก่อน

เช่นนี้ ประเทศในยุโรปจะทำอะไรได้นอกจากต้องยอมตามที่สหรัฐต้องการ เพราะอย่างไรเสีย สหรัฐก็ยังเป็น “กิ่งไม้ใหญ่” ที่จะเรียกได้ว่า “ที่ดีสุด” และยังเป็น “กิ่งเดียว” ที่นกน้อยจากยุโรปสามารถมาเกาะได้ และแน่นอนประเทศยุโรปที่พึ่งพาสหรัฐมายาวนานก็ยังหากิ่งไม้ใหม่เกาะไม่ได้ในเร็ววันนี้แน่ๆ 

หลังจากนี้ สิ่งที่อาจได้เห็นกัน คือการยอมของประเทศยุโรป เรียกว่า ให้อะไรแค่ไหนก็เอาแค่นั้น ขออะไรก็ให้ เข้าทำนองเดียวกับยูเครน ที่ตอนนี้ก็มีท่าทียอมให้สหรัฐทุกอย่างรวมถึงเรื่องแร่ธาตุสำคัญ เพื่อแลกกับการสนับสนุนของสหรัฐ “ที่ยังไม่ได้ตกลงใดๆเป็นชิ้นเป็นอัน” เรียกว่า ต้องซื้อหวยกันยกใหญ่ สัญญาลมๆก็ต้องคว้าเอาไว้ก่อน 

ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายความว่าระเบียบโลกจะเปลี่ยนไปในรูปแบบของการย้ายข้าง ผู้เขียนเชื่อว่าการแบ่งข้างกันยังคงมีอยู่ ระเบียบโลกและการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐกับจีนจะยังคงอยู่ และยุโรปก็ไม่ได้จะหนีจากสหรัฐแล้วย้ายข้างไปกอดกับจีน ในทางกลับกันยุโรปจะยังคงอยู่กับสหรัฐ หากแต่รูปแบบความสัมพันธ์นั้นอาจเปลี่ยนไป จากเพื่อนที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ (เป็นลูกไล่บ้างเป็นบางครั้ง) ก็อาจจะเพิ่มความรู้สึกของการเป็น “พี่ใหญ่” กับ “น้องเล็ก” มากขึ้น 

 

“ความสัมพันธ์สหรัฐกับยุโรปจะยังคงเหนียวแน่น หากแต่อาจเป็นไปในรูปแบบการ “ควบคุม” กันมากขึ้น และการแข่งขันกันในเวทีโลกระหว่างจีนกับสหรัฐก็จะเข้มข้นขึ้นเพราะคราวนี้สหรัฐจะมียุโรปที่ “สั่งได้” มาเป็นลูกมือ”

 

ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย คงไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบพันธมิตรกันอย่างแน่นอน หากแต่อาจมีการพูดคุยกันมากขึ้น แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อจบสงครามในยูเครน อย่าลืมว่า รัสเซียเองก็บอบช้ำมิใช่น้อยจากสงครามนี้ 

สาเหตุที่รัสเซียต้องการยูเครนนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากภูมิศาสตร์ของยูเครนที่จะเป็นกันชนสำคัญระหว่างรัสเซียกับนาโต้ที่มีสหรัฐหนุนหลังเสมอมา การให้ยูเครนชนะสงครามนี้และเข้าร่วมกับนาโต้จึงไม่ได้ต่างจากการอนุญาตให้กองทัพสหรัฐมาจ่ออยู่ที่ชายแดน 

“ดังนั้น หากความสัมพันธ์ของรัสเซียกับสหรัฐพัฒนาไปในทิศทางเชิงบวกได้ โดยที่ปูตินสามารถคุยตรงกับทรัมป์ได้ แล้วปล่อยให้ยูเครนเป็นอิสระโดยไม่เข้าร่วมกับนาโต้ นั่นอาจเป็นทางออกที่สวยงามของทุกฝ่าย (ยกเว้นยูเครน ที่อยากเข้านาโต้) รัสเซียจะได้ชื่อว่ายอมจบสงคราม เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของสันติภาพที่อาจจะได้รับการรับรองจากสหรัฐด้วยการจับมือกันออกสื่อระหว่างผู้นำ ในขณะที่สหรัฐ โดยเฉพาะ ทรัมป์ จะได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสันติภาพของโลก”

นี่คือการวิเคราะห์ในมุมที่ว่า การเมืองคือเรื่องผลประโยชน์ การโหวตสวนทางกับประชาคมโลกของสหรัฐจะไม่เกิดขึ้น หากสหรัฐมองไม่เห็นว่า ผลประโยชน์ที่จะได้รับคืออะไร และมีค่ามากแค่ไหน สิ่งที่ผู้เขียนวิเคราะห์มาข้างต้น อาจเป็นสิ่งที่ “มีค่า” มากพอสำหรับสหรัฐ เรียกได้ว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ได้ทั้งอิทธิพล ได้ทั้งกองหนุน ได้ทั้งภาพลักษณ์ และได้ผลงานส่วนตัวของโดนัลด์ ทรัมป์ 

สำหรับผู้เขียน นี่ไม่ใช่ระเบียบโลกใหม่แต่อย่างใด หากแต่นี่คือการสั่ง “จัดแถว” ให้ประเทศในยุโรปได้ร้อง เฮ!! แล้วกระโดดเด้งดึ๋งเข้าหาพี่ใหญ่ แต่หากจะมองว่านี่คือระเบียบโลกใหม่ ผู้เขียนก็มองว่า ก็คงจะเป็นระเบียบโลกใหม่ที่สหรัฐมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้น และอาจจะตอบโจทย์ของทรัมป์ในการ “Make America Great Again” 

เอวัง 



ร้อยเอก ดร. จารุพล เรืองสุวรรณ

 

ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาการทูตและการต่างประเทศ 

คณะการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า