จับปลาหมอคางดำ มาทำปลาร้า Hygienic ธรรมนัสพลิกวิกฤติเป็นโอกาส จับมือเชฟชุมพลพัฒนาสูตร ผลักดันปลาร้าปลาหมอคางดำส่งออกต่างประเทศ
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าว “ปลาหมอคางดำ ทำอย่างไรให้เป็นปลาร้า Hygienic” ภายในงาน “Hygienic ปลาร้าไทย เกรียงไกรตลาดโลก”
โดยมี นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นายชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมประมงเร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในทุกมิติ ทั้งการขับเคลื่อน 7 มาตรการ ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570
และสร้างแรงจูงใจให้มีการจับเพิ่มขึ้น ทั้งการตั้งจุดรับซื้อในพื้นที่ระบาดและการันตีราคาที่ 15 บาท/กิโลกรัม (ซึ่งจากการเปิดจุดรับซื้อตั้งแต่วันที่ 1 – 5 ส.ค. 67 ที่ผ่านมารับซื้อไปแล้วกว่า 90,000 กิโลกรัม) ก่อนรวบรวมส่งให้สถานีพัฒนาที่ดินผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อส่งมอบให้การยางแห่งประเทศไทยนำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ใช้ในสวนยางพื้นที่กว่า 200,000 ไร่
รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการควบคุมและลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ ด้วยการส่งเสริมให้มีการจับเพื่อบริโภคในครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน หนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสมัยใหม่มาใช้ในการแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นน้ำปลาร้า ตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
รมว.ธรรมนัส กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องผนึกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นอีก 1 วิธีในการแก้ไขปัญหาการระบาด ตามมาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ โดยปลาหมอคางดำถือเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้ เช่น การนำมาทำปลาร้า
เนื่องจากปลาร้าในประเทศไทยมีการผลิตขยายตัวจากระดับครัวเรือนหรือธุรกิจขนาดเล็กเป็นการผลิตขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาณการผลิตประมาณ 40,000 ตัน/ปี มีมูลค่าตลาดในประเทศรวมปีละกว่า 800 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ประกอบการการแปรรูปปลาร้าที่ขึ้นทะเบียนกับวิสาหกิจชุมชนจำนวน 128 แห่ง
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาร้าป้อนสู่โรงงานให้มากขึ้น นอกจากนี้ กรมประมงจะเดินหน้าทำงานร่วมกับประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร
โดยนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์มาแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นผลิตภัณฑ์ปลาร้า Hygienic ที่ถูกสุขลักษณะ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่มีนโยบายในการส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำอย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมประมง รายงานว่า ปัจจุบันน้ำปลาร้า ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้มีปริมาณการส่งออกและมูลค่าของปลาร้าและผลิตภัณฑ์ ในปี 2566 สูงถึง 65,000 ตัน และมีมูลค่า 2,396 ล้านบาท
ซึ่งผลิตภัณฑ์ปลาร้าที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP จากกรมประมงตามมาตรฐานการส่งออกของแต่ละประเทศ เพื่อควบคุมสินค้าปลาร้าของไทยให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมง เชพชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
โดยภายในงานเป็นการแชร์เทคนิคการแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นน้ำปลาร้าแบบถูกสุขลักษณะ พร้อมนำเสนอ 5 เมนูสุดพิเศษจากปลาหมอคางดำ ได้แก่ ปลาหมอคางดำปิ้งปลาร้าสมุนไพร ปลาหมอคางดำทอดปลาร้าสามรส ปลาหมอคางดำฟูยำมะม่วงปลาร้าหอม ปลาหมอคางดำร้าอบชีสไทย และทอดมันปลาหมอคางดำสอดไส้ปลาหมอคางดำร้ามะกรูดหอมที่ปรุงคู่กับปลาร้าไทยมาให้ผู้เข้าร่วมงานชม และชิม
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์จากก้างปลาหมอคางดำตอบโจทย์การใช้ประโยชน์จากเศษเหลือทิ้ง และเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำมากมาย รวมถึงบูธผลิตภัณฑ์จากปลาร้า เพื่อเป็นไอเดียหนุนภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาหมอคางดำมีปริมาณโปรตีน 18 – 20% และไขมัน 0.25 – 3% ซึ่งเป็นค่าที่ใกล้เคียงกับปลาน้ำจืดทั่วไป จึงสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารหรือแปรรูปด้วยวิธีการถนอมอาหารในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ปลาแดดเดียว ปลาหวาน น้ำปลา รวมถึง น้ำปลาร้า
โดยภายในงาน กรมประมงได้มีการจัดแสดงนิทรรศการโชว์ผลิตภัณฑ์และเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ ได้แก่ ปั้นขลิบปลาหมอคางดำ ปลาหมอคางดำแผ่น ปลาร้าปลาหมอคางดำ และไส้อั่วปลาหมอคางดำ รวมถึง ผลิตภัณฑ์แคลเซียมผงที่ผลิตจากก้างปลาหมอคางดำเพื่อตอบโจทย์การใช้ประโยชน์จากเศษเหลือทิ้ง (Zero waste) มาจัดแสดงภายในงานอีกด้วย
ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการจับเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ต้องการส่งเสริมหรือเพิ่มมูลค่าให้กับปลาหมอคางดำมากเกินไป จนนำไปสู่การลักลอบขยายพันธุ์ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอคางดำยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ช่วยกันจับ-ช่วยกันกิน-ช่วยกันใช้ ควบคู่ไปกับการดำเนินการมาตรการอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการจัดการควบคุมประชากรสัตว์น้ำต่างถิ่นอย่างเป็นระบบต่อไป
นายชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาร้าเป็นอาหารพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมในการบริโภคทั่วทุกภาคของประเทศไทย และตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ตนได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาร้า Hygienic ที่ถูกสุขลักษณะ โดยใช้ปลาน้ำจืดชนิดต่าง ๆ เป็นวัตถุดิบ ประกอบกับขณะนี้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเกิดขึ้นในประเทศ ทำให้มีปริมาณปลาหมอคางดำที่ถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์มาก
ตนจึงเห็นโอกาสในวิกฤตด้วยการนำวัตถุดิบปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นปลาร้า Hygienic เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่น โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ ซึ่งได้ทำการวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนในการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนตรวจสอบคุณภาพน้ำปลาร้า
และประสานความร่วมมือกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการศึกษาทดลอง และวิจัย รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำปลาร้าให้มีมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ สวทช. และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำปลาร้าอีกด้วย