ทดสอบระบบ Blockchain แจ้งเบาะแสยาเสพติดแบบไม่เผยตัวตน ปลอดภัยสูง ได้รางวัลนำจับ 5%
“รมว.ยุติธรรม” พร้อม เลขาฯ ป.ป.ส. เปิดทดลองระบบ Blockchain แจ้งเบาะแสยาเสพติดแบบไม่เปิดเผยตัวตน มีความปลอดภัยสูงและได้รางวัลนำจับ 5%
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. และผู้บริหาร ป.ป.ส. ร่วมแถลงข่าวการทดสอบระบบแจ้งเบาะแสยาเสพติด ผ่านระบบ Blockchain วานนี้ (10 ก.พ.) โดยกล่าวว่าระบบแจ้งเบาะแสยาเสพติด แบบไม่เปิดเผยตัวตน หรือ ระบบบล็อคเชน ได้ถูกพัฒนามาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการแจ้งเบาะแสยาเสพติด แต่ไม่อยากเปิดเผยตัวตน เนื่องจากกังวลในเรื่องความปลอดภัย
ระบบใหม่นี้จะมีชั้นความลับที่สูงมาก โดยประชาชนสามารถเข้าไปแจ้งเบาะแสได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ส. รวมถึงคิวอาร์โค้ด ซึ่งใช้ได้ทั้งคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ โดยระบบจะให้ประชาชนแจ้งรายละเอียดข้อมูลของผู้ค้ายาเสพติด รวมทั้งสถานที่กระทำผิด ข้อมูลบุคคล ประเภททรัพย์สิน รูปถ่าย และวอลเล็ทแอดเดรสของผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งจะไม่สามารถยืนยันตัวตนของผู้แจ้งเบาะแสได้ และเมื่อข้อมูลแจ้งเบาะแส สามารถนำไปสู่การยึดทรัพย์เข้ากองทุนยาเสพติดได้แล้ว ผู้แจ้งจะได้รางวัลนำจับ 5% ผ่านวอลเล็ทแอดเดรส ที่แจ้งไว้ โดยสามารถนำสกุลเงินดิจิทัล ไปซื้อขายในตลาดได้ทันที
นายสมศักดิ์ กล่าวว่าที่ผ่านมามีคนแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน 1386 น้อยมาก ซึ่งประเทศไทย มีกว่า 8 หมื่นหมู่บ้าน แต่มีคนแจ้งมาเพียง 16,000 ครั้งเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่ในสภาฯ อภิปรายบ่อยครั้งว่า มียาเสพติดทุกหย่อมหญ้า แต่ทำไมมีคนแจ้งมาน้อยมาก ซึ่งตนก็มาคิดทบทวนว่า อาจจะมีปัจจัยอื่นด้วย เช่น การกลัวความไม่ปลอดภัย เพราะจากการลงพื้นที่ต่างๆ ตนมักจะได้รับเสียงสะท้อนว่า ที่ไม่กล้าแจ้งเบาะแส เพราะกลัวผู้ค้ายารู้ตัว และกลับมาทำร้าย
ดังนั้น เมื่อรู้ปัญหา จึงศึกษาเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้แจ้งเบาะแส มีความปลอดภัย ไม่มีใครรู้ตัวตน ซึ่งระบบนี้ จะมีเพียงเลขาธิการ ป.ป.ส.เท่านั้น ที่สามารถเปิดดูข้อมูลได้ โดยการศึกษาระบบบล็อคเชน เป็นวิธีการแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง เพราะผู้ค้ายาเสพติดใช้ระบบบล็อคเชนในการจ่ายเงินเป็นสกุลเงินดิจิทัล เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ เราจึงมีการใช้ระบบแบบเดียวกัน ให้ผู้แจ้งเบาะแสยาเสพติด เข้ามาชี้เบาะแสและรับรางวัลนำจับเป็นสกุลเงินดิจิทัลเหมือนกัน
“เราใช้เวลากว่า 7 สัปดาห์ ในการศึกษาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งใช้งบไปเพียง 9 แสนบาท ก็สามารถพัฒนาระบบจนสามารถเริ่มใช้ได้แล้ว โดยผมเชื่อว่า ถ้าแจ้งแล้วเป็นความลับแบบนี้ จะมีคนแจ้งมาขึ้น เพราะไม่มีอันตรายแล้ว ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าถึงทรัพย์สินของผู้ค้ายาได้มากขึ้น
ดังนั้น นี่จึงถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่ดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันปราบปรามยาเสพติด ผมมั่นใจว่า กระแสตอบรับจะดีมาก เพราะช่วยแก้ปัญหาข้อมูลผู้แจ้งหลุดไปถึงผู้ค้ายาได้อย่างสิ้นเชิง และเมื่อใช้ไปสักระยะ ก็จะต้องมีการปรับเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมยังมีเวลาอีกเดือนกว่า ก็อยากจะทำเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามยาเสพติดแบบเชิงรุก” รมว.ยุติธรรม กล่าว
อินโดนีเซียขึ้นราคาพลังงาน 30% หลังรัฐบาลยอมรับ “อุดหนุนต่อไม่ไหว” หวั่นเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศ
เทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) คืออะไร ?
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม