
NATO เพิ่มนำเข้า อาวุธสหรัฐสองเท่าภายใน 5 ปี ขณะที่ยูเครนขึ้นแท่นเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลก และสหรัฐครองส่วนแบ่ง 43% ส่งออกอาวุธทั่วโลก
รายงานล่าสุดของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม (SIPRI) เปิดเผยว่า ประเทศสมาชิก NATO ในยุโรปเพิ่มการนำเข้าอาวุธกว่าสองเท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยกว่า 60% ของอาวุธที่นำเข้ามาจากสหรัฐฯ
ในช่วงปี 2020-2024 ยูเครนได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงครองตำแหน่งผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุด โดยครองส่วนแบ่งถึง 43% ของการส่งออกอาวุธทั่วโลก ทิ้งห่างฝรั่งเศส ซึ่งครองอันดับสองด้วยส่วนแบ่งเพียง 9.6%
ข้อมูลของ SIPRI ยังสอดคล้องกับแผนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านกลาโหมของสหภาพยุโรป เพื่อตอบสนองต่อนโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
ในช่วงเวลาเดียวกัน การนำเข้าอาวุธของประเทศสมาชิก NATO ในยุโรปเพิ่มขึ้นถึง 105% เมื่อเทียบกับห้าปีก่อนหน้า (2015-2019) โดยเป็นการนำเข้าจากสหรัฐถึง 64% เพิ่มขึ้นอย่างมากจากช่วง 5 ปีก่อนหน้าที่นำเข้าจากสหรัฐคิดเป็น 52%
“ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการเสริมสร้างกำลังอาวุธของประเทศในยุโรป เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามจากรัสเซีย” แมทธิว จอร์จ ผู้อำนวยการโครงการการถ่ายโอนอาวุธของ SIPRI กล่าว
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการนำเข้าอาวุธ ส่งผลให้ยุโรปกลายเป็นตลาดอาวุธที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยประเทศในยุโรปคิดเป็น 35% ของการส่งออกอาวุธของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2020-2024 แซงหน้าตะวันออกกลางซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 33% อย่างไรก็ตาม ในระดับประเทศ ซาอุดีอาระเบียยังคงเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ
ฝรั่งเศสเองได้เพิ่มการส่งออกไปยังยุโรปเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงปี 2015-2019 โดยมาจากการขายเครื่องบินรบ Rafale ให้กรีซและโครเอเชีย และการจัดหาอาวุธให้กับยูเครน ด้านอินเดียยังคงเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส โดยคิดเป็น 28% ของการส่งออกของฝรั่งเศส ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนการนำเข้าของยุโรปรวมกันถึงเกือบ 2 เท่า
รัสเซียยังคงเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 3 แม้ว่าการส่งออกจะลดลงถึง 64% ในช่วงปี 2020-2024 เนื่องจากการคว่ำบาตรและแรงกดดันจากสหรัฐฯ และพันธมิตรที่พยายามขัดขวางการซื้ออาวุธจากรัสเซีย หลังการรุกรานยูเครน ทำให้อินเดียซึ่งเคยนำเข้าอาวุธ 38% จากรัสเซีย เริ่มหันไปพึ่งพาประเทศอื่นๆ ขณะที่จีนที่นำเข้าอาวุธ 17% จากรัสเซียได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ในตะวันออกกลาง การนำเข้าอาวุธของอิสราเอลยังคงทรงตัวระหว่างปี 2015-2019 และ 2020-2024 ตามรายงานของ SIPRI อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอาวุธรายใหญ่ที่สุดของอิสราเอล (66% ในช่วงปี 2020-2024) ได้เพิ่มการจัดหาอาวุธหนักอย่างระเบิดนำวิถีตั้งแต่ปลายปี 2023 ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลที่เข้มข้นขึ้นในกาซา อิหร่าน เลบานอน ซีเรีย และเยเมน