Newsเผยกับดักใน MOU44 ที่อาจทำให้ไทยเสียดินแดน ‘พล.ร.อ. พัลลภ’ เห็นด้วยกับการเจรจาแบ่งอาณาเขต ทางทะเลกับกัมพูชา แต่ไม่ใช่ผ่าน MOU44

เผยกับดักใน MOU44 ที่อาจทำให้ไทยเสียดินแดน ‘พล.ร.อ. พัลลภ’ เห็นด้วยกับการเจรจาแบ่งอาณาเขต ทางทะเลกับกัมพูชา แต่ไม่ใช่ผ่าน MOU44

พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่าประเด็นเรื่องเกาะกูดนั้น เป็นประเด็นที่ตนเองได้ติดตามมานานแล้ว และในฐานะที่ตนเองเคยเป็นนายทหารเรือที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคตะวันออก ซึ่งตนเองต้องลงไปในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งในสมัยนั้นยังมีการใช้กำลัง และความไม่สงบในพื้นที่ที่ติดกับเกาะกงของกัมพูชา

 

(เกาะกง เป็นจังหวัดของกัมพูชา ที่อยู่ติดชายแดนไทยทางด้านจังหวัดตราด อีกทั้งยังอยู่ตรงข้ามกับเกาะกูดของไทยด้วย)

 

ซึ่งเกาะกูดนั้นเป็นของไทย 100% อีกทั้งในการปฎิบัติงานของกองทัพเรือ กองทัพได้ยึดถือเส้นเขตแดนตั้งแต่หลักเขตที่ 73 และลากระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง ตามประกาศของไทยในปี 2516  มาโดยตลอด อีกทั้งกองทัพเรือได้มีการตั้งหน่วยอยู่บนเกาะกูดมานานแล้วด้วย

 

ถ้าหากว่ามีเรือต่างชาติรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนที่ไทยประกาศไว้ กองทัพเรือก็จะมีการจับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมายของไทย จึงขอยืนยันว่าในขณะนี้ ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของการปฏิบัติงาน และไม่เห็นว่าเรื่องเกาะกูดนั้นจะกลายเป็นประเด็นให้เกิดความขัดแย้ง

 

 

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่านายฮุน มาเน็ต นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชานั้น พลเรือเอก พัลลภกล่าวว่า ขอให้ฟังหูไว้หู เพราะตนเองไม่แน่ใจว่าการเมืองภายในของแต่ละประเทศของเขานั้นเป็นอย่างไร เขาอาจจะมีการดำเนินการบางอย่าง เพื่อที่จะให้เกิดเสียงสนับสนุน

 

แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว เกาะกูดนั้นเป็นของไทย โดยไทยนั้นมีการจัดระเบียบการปกครอง โดยเกาะกูดนั้นมีสถานะเป็นอำเภอ อีกทั้งยังมีการลงทุนสร้างรีสอร์ท และบ้านพัก เป็นแหล่งท่องเที่ยวของไทยที่มีนักท่องเที่ยวมากมาย

 

ดังนั้นโดยพฤตินัย และพฤตินัยแล้ว มันไม่มีอะไรเลยที่จะทำให้เราจะต้องเป็นห่วง

 

แต่การที่มีผู้นำต่างชาติกล่าวว่าเกาะกูดเป็นของประเทศตนเองนั้น ก็อาจจะเนื่องด้วยกระแสการเมืองภายในของเขา เพื่อการสร้างเสียงสนับสนุนภายใน แต่อย่างไรก็ขอยืนยันว่าเกาะกูดนั้นเป็นของไทยอย่างชัดเจน และไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องมาวิตกให้มาก จนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งในประเทศของเรา

 

สำหรับกรณีที่เป็นข่าวออกมานั้น พลเรือเอก พัลลภกล่าวว่า ฝ่ายไทยสามารถให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงต่างประเทศ หรือหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งเราก็มีกรรมการชายแดนอยู่หลายระดับ ทำเรื่องสอบถามเข้าไปยังกัมพูชาก็ได้ว่ามีข้อเท็จจริงเป็นประการใด เกิดความเข้าใจผิดอย่างไรหรือไม่ และที่พูดออกมานั้นมีความหมายว่าอย่างไร

 

 

สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับความสนิทสนมกันระหว่างสมเด็จฮุน เซ็น อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชากับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และบิดาของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตรนั้น พลเรือเอก พัลลภกล่าวว่า คงต้องมีการแยกแยะระหว่างความสัมพันธ์ส่วนตัว กับสิ่งที่ต้องดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอย่างเป็นทางการ

 

ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามที่กระทบต่อความสัมพันธ์ของประเทศ หน่วยงานก็ต้องดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะรัฐบาลใดก็ช่างนั้น เป็นเรื่องที่แล้วแต่

 

แต่ทั้งนี้นั้น หน่วยงานของทั้งไทยและกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต่างประเทศ หรือกองทัพของทั้ง 2 ประเทศนั้น มีความสัมพันธ์ระหว่างกันตามอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว และถ้าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นดีด้วย ก็จะทำให้การเจรจานั้นเป็นไปได้ดีขึ้น สามารถใช้ความสัมพันธ์ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้

 

 

พลเรือเอก พัลลภ กล่าวว่าสำหรับการประกาศอาณาเขตทางทะเลนั้น เป็นการประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียวของแต่ละประเทศ ซึ่งไม่ตรงกัน และนั่นเป็นที่มาของความขัดแย้งระหว่างกัน เป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน ซึ่งตนเองเห็นว่าถ้าทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามานั่งคุยกันให้ดี ๆ ตามกฎหมายทางทะเลก็จะสามารถตกลงกันได้ และก็จะถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะในปัจจุบันเราสามารถแบ่งเขตแดนกันได้ง่ายขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ตนเองอยากจะขอฝากในเรื่องของการเจรจาตามที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นแนวทางเอาไว้ใน MOU44  ซึ่งหลายฝ่ายรวมทั้งตนเองเห็นถึงข้อเสียใน MOU 44 มากกว่า เนื่องจากว่าฝ่ายไทยอาจจะเสียเปรียบในการแบ่งน้ำมัน เนื่องจากว่าเราอาจจะต้องสูญเสียน้ำมันที่ควรจะเป็นของเราไปให้ฝ่ายกัมพูชา เพราะว่ามีพื้นที่ที่ทางกัมพูชาอ้างว่าเป็นของตนโดยที่ตามกฎหมายทางทะเลนั้น กัมพูชาไม่มีสิทธิ

 

แต่ถ้าหากว่ารัฐบาลจะเดินหน้าเจรจาตามกรอบ MOU 44 จริง ๆ ก็ขอให้ยืนยันในจุดยืนที่ทางการไทยยึดถือตั้งแต่ในอดีตมา โดยให้มีการแบ่งเขตให้แล้วเสร็จไปด้วย อย่าได้มีการเจรจาแบ่งพื้นที่ช่วงหน้าไปก่อนตามที่มีกระแสข่าวออกมาว่ารัฐบาลพยายามเร่งที่จะให้มีการนำทรัพยากรออกมาใช้ เพราะกลัวว่าจะเกิดการเสื่อมสภาพ

 

“อยากจะทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ปิโตรเลียมหรือแก๊สธรรมชาติเนี่ย มันเป็นวัสดุหมดเปลือง ใช้แล้ว เอามาเผาแล้วก็หมดไป แต่ว่าเขตแดน ดินแดน มันเป็นสิ่งถาวร มันจะอยู่กับเราไป” พลเรือเอก พัลลภกล่าว อีกทั้งยังแสดงความกังวลว่า ถ้าหากว่ามีการพัฒนาร่วมกันต่อไปภายใต้ MOU44 นั้น อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ทางทะเลได้ในอนาคต ทั้ง ๆ ที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น

 

พลเรือเอก พัลลภกล่าวว่าตนเองเล็งเห็นถึงกับดักใน MOU44 เรื่องที่จะทำให้เกิดการเสียดินแดน โดยใน MOU 44 นั้นมีหลายส่วนที่เหมือนว่าไทยได้ยอมรับการเกิดขึ้นของพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน ตามที่กัมพูชาได้อ้างสิทธิด้วย เช่น ในอารัมภบทของ MOU44 นั้น มีข้อความที่ระบุว่าทั้ง 2 ประเทศได้ให้การยอมรับว่าเส้นแบ่งของทั้ง 2 ประเทศนั้นถูกต้องอย่างเป็นทางการ ซึ่งตนเองเห็นว่าส่วนนี้นั้นเป็นส่วนที่อันตราย

 

และถ้าเรายอมรับการพัฒนาร่วมกัน ก็เหมือนว่าเราได้แบ่งปันสิทธิในอธิปไตย, น้ำมัน และทรัพยากรประมงในพื้นที่ให้กับกัมพูชาด้วย ซึ่งนั่นจะทำให้กัมพูชาเริ่มขยับเข้ามา ซึ่งถ้าแต่เดิมเราไม่ยอม เขาก็จะไม่สามารถเข้ามาใช้สิทธิตรงนี้ได้ แต่ถ้าเขาเข้ามาได้ ก็จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยในระยะยาว

 

เพราะเมื่อถึงคราวที่น้ำมันและแก๊สหมด ก็จะถึงคราวที่ลูกหลานของเราจะต้องเจรจาแบ่งเขตกันให้ชัดเจน และนี่จะทำให้เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่านำไปผนวกกับเรื่องเขื่อนหินทิ้งที่หลักเขต 73 (ที่กัมพูชาได้สร้างเอาไว้ และไม่ยอมรื้อถอนตามคำขอของฝ่ายไทย) จะยิ่งสร้างความเสียเปรียบให้ฝ่ายไทยเพิ่มขึ้นมาก

 

โดยการอ้าง MOU 44 เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าประเทศไทยเคยยอมรับเส้นแบ่งนี้ไปแล้ว และไทยกับกัมพูชาเคยเข้ามาพัฒนาพื้นที่ร่วมกันในพื้นที่อ้างสิทธิที่ลากผ่านเกาะกูด ซึ่งจะทำให้ไทยต้องสูญเสียอาณาเขตในอนาคต

 

 

ตนเองจึงขอยืนยันว่าจะต้องยกเลิก MOU 44 แต่ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าตามกรอบนี้ ก็ขอรัฐบาลยืนยันที่จะไม่เปลี่ยนจุดยืน และระมัดระวังในการตีความแบบแกมโกง

 

โดยเฉพาะที่มีการระบุว่าจะต้องเจรจาแบ่งเขตเหนือเส้นละติจูดที่ 11 และการเจรจาแบ่งน้ำมันใต้เส้นละติจูดที่ 11 นั้น จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน แบ่งแยกกันไม่ได้ ซึ่งในส่วนนี้ ถ้ามีการตีความแบบแกมโกง ก็จะตีความได้ว่าไม่จำเป็นที่จะต้องสำเร็จพร้อมกัน

 

ก็อาจจะยื้อการเจรจาแบ่งเขตออกไปหลายสิบปี ในขณะที่ฝ่ายกัมพูชาอาจจะขุดน้ำมันที่บางส่วนอาจจะควรเป็นกรรมสิทธิ์ของไทยขึ้นมาใช้ก่อนก็ได้ ซึ่งตนเองยืนยันว่าในพื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 นั้น มีพื้นที่บางส่วนที่เกินสิทธิของกัมพูชา เนื่องจากว่ากัมพูชาได้ลากเส้นผ่านเกาะกูดเลย ทำให้กัมพูชาได้พื้นที่ที่ใหญ่เกินกว่าสิทธิที่กัมพูชามี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า