
กังวล Moral Hazard ‘จุลพันธ์’ สางปมโครงการพักชำระหนี้ทั้งระบบ ทั้งกลุ่มหนี้เกษตรกร และ SME
20 พ.ย. 66 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำลังเตรียมแถลงในช่วงปลายเดือนนี้ว่า ยังไม่ทราบในรายละเอียดทั้งหมด ขอให้รอความชัดเจนก่อน แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้กลไกตามอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลในการช่วยเหลือและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน
การดำเนินการจะมีเป้าหมายชัดเจน เป็นคนละส่วนกับโครงการพักหนี้เกษตรกร และจะเป็นการแก้ไขโครงสร้างหนี้สินอย่างจริงจังและครอบคลุมทั้งระบบ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดอยากให้รอฟังจากนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ถึงแม้ว่านายจุลพันธ์ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าแนวทางการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลอาจจะทำให้ลูกหนี้ที่ดีจงใจผิดนัดชำระหนี้ (Moral Hazard) แต่ยังคงยืนยันว่าการพักหนี้ในครั้งนี้จะไม่เหมือน 13 ครั้งที่ผ่านมา ที่เป็นเพียงแค่การประวิงเวลา เพราะจะมีกลไกหลายอย่างในการเข้าไปช่วยเหลือ ประกอบกับกลไกอื่น ๆ ที่รัฐได้ทำลงไปแล้ว จะสามารถทำให้ประชาชนพลิกฟื้นชีวิตกลับมาได้อย่างแข็งแรง
สำหรับโครงการพักชำระหนี้ในส่วนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศนั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่าได้ส่งเรื่องให้คณะทำงานเรียบร้อยแล้ว และกำลังพิจารณารายละเอียดกันอยู่ ซึ่งในส่วนนี้ต้องยอมรับว่าหนี้สหกรณ์ค่อนข้างซับซ้อน และสหกรณ์มีหลายประเภท มีความจำเป็นจะต้องตั้งเกณฑ์ชี้วัดที่ชัดเจน และจำเพาะเจาะจง เพื่อตอบคำถามสังคม
สำหรับในส่วนของ SME นั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่าจะมุ่งช่วยเหลือไปที่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รหัส 21 (กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19) ก็จะพุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งอาจทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีอื่น ๆ ที่อยู่นอกกรอบไม่ได้รับความช่วยเหลือไปด้วย
ซึ่งมูลหนี้ต่อรายของกลุ่ม SME นั้นสูงกว่าของเกษตรกรมาก ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรถึงจะช่วยเหลือทั้งระบบได้โดยที่ยังอยู่ภายในกรอบภาระที่รัฐบาลรับไหว ซึ่งรัฐบาลต้องมีการหากลไกเข้าไปช่วยเสริมและสนับสนุน และอาจจะไม่ใช่การพักหนี้ และการเข้าไปช่วยเหลือแล้วก็ต้องไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มอื่น ๆ ที่รัฐบาลจะต้องดูแล และต้องไม่ให้เกิดปัญหา Moral Hazard