![](https://thestructure.live/wp-content/uploads/2024/08/มนพร-2-1.jpg)
แผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ยกระดับสู่ความเป็นท่าเรืออัจฉริยะ และศูนย์โลจิสติกส์ครบวงจร พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนชาวคลองเตย
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ออกจากพื้นที่เดิม ซึ่งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 70.7% เห็นด้วยกับการย้ายท่าเรือ
และ 40.2% มองว่าจะทำให้เกิดประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่เดิมโดยการใช้พื้นที่ผสมผสานในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาเชิงพาณิชย์ การแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด และช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากสัญจรในบริเวณดังกล่าว รวมถึงลดปัญหาความแออัดของชุมชนด้วยนั้น
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทบทวนและศึกษาการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพให้มีความเหมาะสม โดยจะต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบด้าน และครบทุกมิติอย่างเร่งด่วน
โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อยกระดับการให้บริการ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางมนพรกล่าวว่าได้มีการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Port Redevelopment Project) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการยกระดับให้เป็นท่าเรือทันสมัย มีศักยภาพรองรับธุรกิจพาณิชยนาวี ส่งเสริมการขนส่งโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว
รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนคลองเตยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้แนวคิดโครงการท่าเรืออัจฉริยะ (SMART PORT) ยกระดับสู่ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร
ซึ่งโครงการมีเนื้อที่ประมาณ 2,353.2 ไร่ แบ่งเป็น 7 ส่วนในการพัฒนาได้แก่
1 พื้นที่ในเขตรั้วศุลกากรใช้ในกิจการ การท่าเรือกรุงเทพ 943.2 ไร่
2 พื้นที่นอกเขตรั้วศุลกากรใช้ในกิจการ กทท. 149.2 ไร่
3 พื้นที่หน่วยงานของรัฐขอใช้ 150.2 ไร่
4 พื้นที่หน่วยงานของรัฐเช่าใช้ประโยชน์ 152.2 ไร่
5 พื้นที่เอกชนเช่า 521.16 ไร่
6 พื้นที่ชุมชนแออัดคลองเตย 232.1 ไร่
7 พื้นที่ทางสัญจร (ถนน, ทางรถไฟ, คลอง) 203.1 ไร่
และกำหนดรายละเอียดโครงการพัฒนาออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
1 กลุ่มพัฒนาพื้นที่ A ได้แก่ อาคารสำนักงานท่าเรือใหม่และอาคารสำนักงานเช่าเอกชน, Retail Mixed Use, โครงการที่พักอาศัย, Medical Hub, อาคารสำนักงาน, Smart Community, อาคารอยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการพนักงาน กทท., อาคารอยู่อาศัยประเภทเช่า
2 กลุ่มพัฒนาพื้นที่ B ได้แก่ Smart Port (ท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ), ท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออก, ท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่ง (20G)
3 กลุ่มพัฒนาพื้นที่ C ได้แก่ พื้นที่ Cruise Terminal, Retail Mixed use, อาคารสำนักงาน, พื้นที่พาณิชย์ Duty Free, โรงแรม, ศูนย์อาคารแสดงสินค้า, อาคารสาธารณูปโภค, อาคารจอดรถ, ศูนย์ฝึกอบรม
4 กลุ่มพื้นที่รองรับในการพัฒนาในอนาคต X ได้แก่ พื้นที่คลังเก็บสินค้า และสำนักงาน E- Commerce, พื้นที่จอดรถบรรทุก, พื้นที่ ปตท. เช่าใช้
5 กลุ่มพัฒนาพื้นที่ G ได้แก่ Sport Complex, การปรับปรุงสถาปัตยกรรมของพื้นที่ทั้งหมด, สวนสาธารณะ