
20 บาทตลอดสาย ไม่คุ้ม! ‘สุเมธ’ ชี้อาจต้องใช้เงินชดเชยถึงปีละหมื่นล้าน โดยที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการจราจรเลย แต่ก็ควรทำให้ราคาถูกลง
ดร. สุเมธ องกิตติกุลวิจารณ์นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทคลอดสายของรัฐบาลว่า อาจต้องใช้เงินชดเชยมากถึงปีละ 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังไม่คุ้มค่า ไม่ได้ช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพิจารณาโครงสร้างราคารถไฟฟ้า เพื่อทำให้มีราคาค่าโดยสารถูกลง
วันที่ 13 ก.ย. 66 ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ TDR ให้สัมภาษณ์กับทางฐานเศรษฐกิจ ในประเด็นเรื่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
ดร. สุเมธ กล่าวว่าการที่พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพิจารณาว่าราคารถไฟฟ้ามันแพงเกินไป แต่ราคา 20 บาทเองก็อาจจะเป็นราคาที่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว ควรจะพิจารณาว่าราคาที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร
ประเด็นแรกที่ควรพิจารณาก่อนคือระบบตั๋วโดยสาร ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัด เนื่องจากแต่ละสายต่างมีระบบของตัวเอง ซึ่งการจะทำให้ทุกสายมีค่าโดยสารเหมือนกัน ต้องตรวจสอบระบบของแต่ละสายก่อน เพื่อสร้างระบบร่วมรองรับการเดินทางข้ามสาย ซึ่งการสร้างระบบต้องใช้เวลา และจะมีคำถามตามมาว่า ใครจะเป็นผู้ลงทุนสร้างระบบดังกล่าว
ตัวค่าโดยสารเองก็มีปัญหา เนื่องจากแต่ละสายต่างก็มีสัญญาสัมปทานที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่มีราคาที่กำหนดในสัมปทานสูงกว่า 20 บาท ซึ่งหากจะให้เอกชนเก็บค่าโดยสารเพียง 20 บาท เอกชนคงจะเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายส่วนต่างให้ ทำให้ต้องพิจารณางบประมาณว่าจะสามารถชดเชยได้หรือไม่
ดร. สุเมธระบุว่า วงเงินงบประมาณอุดหนุนน่าจะอยู่ที่ 6 – 9 พันล้านบาทต่อปี ตลอด 4 ปี มีโอกาสสูงที่จะจ่ายเฉลี่ยปีละหมื่นล้านในการอุดหนุนทั้งระบบ เข้าใจว่ากระทรวงคมนาคมเองก็มีการประเมินตัวเลข ซึ่งอาจจะน้อยกว่าหน่อย แต่ก็ไม่ได้ต่างกันมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณผู้โดยสาร ยิ่งหากมีผู้โดยสารมากขึ้น ก็ต้องชดเชยสูงขึ้น
ดร. สุเมธกล่าวว่า การลดราคาโดยสารน่าจะช่วยให้มีอัตราการใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10% แต่ไม่น่าจะแก้ไขปัญหารถติดได้เพราะคนก็จะยังใช้รถยนต์เหมือนเดิม เนื่องจากราคารถยนต์ส่วนบุคคลยังมีราคาไม่สูงมาก อีกทั้งการลดราคาน้ำมันจะช่วยให้คนยังใช้รถยนต์เหมือนเดิม ทำให้เกิดประเด็นว่าความคุ้มค่าของมาตรการนี้มีความคุ้มค่าขนาดไหน ?
แนวทางการดำเนินการในต่างประเทศ จะไม่ลดราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนเพียงอย่างเดียว แต่จะเพิ่มราคาค่าใช้จ่ายในฝั่งของรถยนต์ส่วนบุคคลควบคู่ด้วย เช่นการห้ามจอด สร้างความลำบากในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เก็บค่าที่จอดรถในเมืองด้วยราคาแพง หรือแม้กระทั่งเก็บค่าเข้าเมือง ซึ่งการทำให้ต้นทุนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลสูงขึ้น จะจูงใจให้คนหันมาใช้การขนส่งมวลชนมากขึ้น
การเดินรถไฟฟ้ามีต้นทุนของมันอยู่ ไม่ว่าจะค่าคน ค่าแรง ค่าพลังงาน ค่าบริหารจัดการ การทำให้ค่าโดยสารต่ำกว่าทุนมาก แน่นอนว่าประชาชนได้ประโยชน์ แต่รัฐเองก็ต้องจ่ายเงินอุดหนุนเยอะ
หากรัฐมีโครงสร้างภาษีน้ำมันที่ชัดเจน แล้วไปขึ้นภาษีน้ำมัน แล้วเอาภาษีน้ำมันตรงนี้มาจ่ายเงินอุดหนุนขนส่งมวลชน มันก็ดูแล้วน่าจะมีความคุ้ม แต่เวลานี้รัฐจะลดภาษีน้ำมันด้วย ความคุ้มค่าของการลดค่าโดยสารลดไฟฟ้าก็จะยิ่งลดน้อยลง
“เท่าที่ประเมินตัวเลขเบื้องต้นมา รู้สึกว่าไม่ค่อยคุ้มเท่าไร เพราะว่าคนที่จะมาใช้เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้ลดปัญหาพวกนั้นเลย ถ้าเราไม่ใช้มาตรการอื่น ๆ” ดร. สุเมธกล่าว
ดร. สุเมธกล่าวว่า ราคา 20 บาทตลอดสาย เหมาะกับการเป็นราคาโปรโมชั่นมากกว่าที่จะเป็นราคาระยะยาว เนื่องจากต้นทุนการเดินรถไฟฟ้าแพงกว่านี้ อีกทั้งการลดราคาอาจจะไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากนัก รัฐบาลควรไปสนใจการแก้ไขโครงสร้างอัตราค่าโดยสารมากกว่า เพราะหากขึ้นหลายสารค่าโดยสารจะแพง
ทั้งนี้ ดร. สุเมธกล่าวว่า ไม่อยากให้รัฐบาลจบที่ทำได้ หรือไม่ได้ แต่ควรจะทำให้เกิดระบบค่าโดยสารร่วมให้ได้ เพื่อลดราคาค่ารถไฟฟ้าลง โดยการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งปัญหาสัญญาสัมปทานที่ค้างคามานาน เช่นกรณีสายสีเขียว ก็ควรจะได้รับการแก้ไขด้วยเช่นกัน โดยจะต้องสอดคล้องกับนโยบายลดค่าโดยสาร ไม่ใช่การสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา