ไทยส่งออกแต่สินค้าเดิม ๆ ขาดความสามารถในการแข่งขัน ‘สภาอุตฯ’ เผยถึงสาเหตุที่โรงงานแห่ปิดกิจการเป็นจำนวนมาก ชี้ต้องเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปรียบเทียบข้อมูลการปิดโรงงานของกิจการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. ของปีนี้ กับปี 2566
โดยปีนี้ มีโรงงานปิดตัว 600 กว่าแห่ง มูลค่าเฉลี่ย 27 ล้านบาทต่อแห่ง ในขณะที่ปี 2566 มีโรงงานปิดตัว 358 แห่ง มูลค่าเฉลี่ย 117 บาทต่อแห่ง
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามี SME ปิดกิจการและเลิกจ้างงานมากขึ้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้สินค้ามีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
“สาเหตุหลักมาจากความสามารถในการแข่งขันของไทย ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์การค้าโลกที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และสินค้าส่งออกไทยที่ยังคงเป็นสินค้าเดิม ๆ ดังนั้น จึงควรเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศ” นายเกรียงไกรกล่าว
นอกจากนี้ นายเกรียงไกรยังกล่าวว่า SME ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ขาดเงินหมุนเวียนกิจการ และเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อีกทั้งยังมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งสินค้า ซึ่งทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 87.2 ลดลงจาก 88.5 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำที่สุดในรอบ 24 เดือน เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ช้า อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวไม่ทั่วถึง กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ ซึ่งส่งผลต่อยอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวม