
กรณ์เห็นด้วยมาก กรณีรัฐจะซื้อหนี้เพื่อช่วยชาวบ้าน ชี้อยากให้ช่วยทำความเข้าใจสิ่งที่ทักษิณกำลังเสนอ และช่วยกันหาทางออกที่มีหลักการที่อธิบายได้
สืบเนื่องจากกรณีที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดในการซื้อหนี้ของประชาชนออกจากระบบธนาคาร เพื่อให้ประชาชนค่อย ๆ ผ่อนจ่ายในภายหลัง ทำให้เกิดการวิจารณ์ ทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน
กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว. คลัง และอดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์ข้อความแสดงความเห็นสนับสนุนทักษิณเมื่อคืนวานนี้ (19 มี.ค. 2568) โดยมีข้อความว่า
“ซื้อหนี้?
พูดเรื่องช่วยคนติดหนี้ทีไร มักจะมีดราม่าทุกครั้ง การแสดงความเห็นหลากหลายเกิดขึ้นทันที บางครั้งก็เพราะเข้าใจผิดจากการสื่อสารที่ไม่เคลียร์ ผมเองเคยมีปัญหานี้กับเรื่องแบล็กลิสต์เครดิตบูโรมาก่อน ข้อเสนอการซื้อหนี้ครั้งนี้ก็ไม่ต่าง
การช่วยคนที่เป็นหนี้ให้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นเรื่องที่ผมเห็นดีด้วยอย่างมาก ผมจึงอยากชวนทุกคนให้ช่วยกันคิดและทำความเข้าใจกับสิ่งที่อดีตนายกฯ กำลังเสนอ และหาทางออกที่มีหลักอธิบายได้ ไม่เป็นประชานิยม (เกินไป) และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนให้กับกล่มทุนกลุ่มใด
โดยสรุป ผมว่าเรื่องการโยกหนี้จากบัญชีธนาคารไปอยู่ในบัญชีรัฐทำได้ครับ และหากทำถูกวิธีก็เป็นเรื่องที่ควรทำด้วย ส่วนอดีตนายกฯ จะทำแบบที่ผมคิดหรือไม่ผมไม่แน่ใจ ผมขอลองเสนอวิธีของผมแล้วกัน (ไม่ได้คิดเองทั้งหมด แต่คุยกับเพื่อนร่วมคิดหลายคน)
อันดับแรก : 2 อย่างที่ ’ไม่ควรทำ‘
- ไม่ควรซื้อหนี้เสียทั้งหมด – เพราะต้องใช้เงินเยอะไป และ moral hazard มากเกินไป
- ไม่ควรเอาผู้บริหารหนี้เอกชนมาเกี่ยวข้อง – เพราะจะมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนมาเกี่ยวข้องกับการใช้เงินรัฐ
คราวนี้สิ่งที่ควรทำ
- หนี้เสียในระบบบูโรตอนนี้มี ทั้งหมด 1.22 ล้านล้านบาท เป็นของลูกหนี้ 9.5 ล้านบัญชี รวม 5.4 ล้านคน – อย่างที่บอก เราไม่ควรซื้อหนี้ทั้งหมดนี้
- รัฐควรขีดเส้นการช่วยเหลือที่ลูกหนี้ที่มีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ซึ่งจะครอบคลุม 3.5 ล้านคน หรือ 65% ของลูกหนี้เสียทั้งหมด!
- ตามนี้ วงเงินหนี้เสียรวมที่รัฐจะดูแลจะเหลือเพียงประมาณ 120,000 ล้านบาท หรือ 10% ของหนี้เสียโดยรวม
- พูดง่ายๆ คือเราช่วยคนเล็กคนน้อยเท่านั้น ขาใหญ่มีวิธีอื่นที่ช่วยได้ เดี๋ยวค่อยว่ากัน
- แหล่งที่มาของเงินคือ เราสามารถใช้เงินเหลือจาก FIDF ได้ เพราะรัฐได้มีมาตรการลดภาระการจ่ายเข้ากองทุนโดยธนาคารพานิชย์ไปแล้วครึ่งหนึ่ง เท่ากับปีละ 70,000 ล้าน
- รัฐควรใช้ AMC ของรัฐที่มีอยู่แล้วคือ SAM (กำกับดูแลโดยแบงค์ชาติ) ซื้อหนี้ส่วนนี้ออกมาจากธนาคารพานิชย์ ราคาตามราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5-7% ของวงเงินหนี้
- ส่วนนี้จะเป็นกำไรของธนาคารพาณิชย์เพราะทุกธนาคารได้สำรองหนี้เสียไว้เต็ม 100% แล้วตามเงื่อนไขแบงก์ชาติ
- หาก SAM ซื้อหนี้ตามราคานี้ วงเงินที่ต้องใช้จริงคือไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท
- จากนั้น SAM ควรตั้งเงื่อนไขให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในราคาตีซัก 10-15% ของหนี้เดิม แลกกับการเคลียร์ประวัติในเครดิตบูโร – ลูกหนี้จะเหมือนได้เกิดใหม่ทันที กำไร (หากมี) ปันส่วนกลับไปให้ธนาคารพาณิชย์บางส่วนได้
- ทั้งหมดนี้ต้องมีแบงก์ชาติเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อความเชื่อมั่น และเพราะมีการใช้หน่วยงานในสังกัด
ด้วยวิธีนี้ รัฐไม่ได้ใช้เงินภาษี (จริงๆก็คือใช้เงินของธนาคารพาณิย์ที่จ่ายให้ FIDF นั่นแหละ) และจำนวนลูกหนี้ที่ติดบูโรในกลุ่มที่เปราะบางที่สุดได้ประโยชน์ถึง 3 ล้านกว่าคน
ข้อเสียคืออะไร?
- ประเด็น moral hazard – การช่วยทุกกรณีมี moral hazard แต่กรณีนี้ผมได้เสนอให้ช่วยลูกหนี้รายเล็กที่สุดเท่านั้น
- ความเสี่ยงต่อกองทุนฟื้นฟู – อันนี้ขึ้นอยู่กับราคาที่ซื้อหนี้มาจากธนาคารพาณิย์ แต่หากซื้อที่ไม่เกิน 5-7% ผมว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับที่รับได้
- ลูกหนี้อาจจะยังไม่พ้นบ่วงหนี้ เพราะหากเป็นหนี้เสียกับธนาคารพาณิชย์อยู่ ผมมั่นใจว่าคงจะมีหนี้นอกระบบอยู่ด้วยอีกไม่มากก็น้อย”