
หลักสูตรป้องกันฆ่าตัวตาย ‘เกาหลีใต้’ กำหนดให้นักเรียนในทุกระดับชั้นปี ต้องเข้าอบรมป้องการฆ่าตัวตายประจำปี
กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ (MOHW) เกาหลี เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (9 ก.ค.) ว่าคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกฎข้อบังคับฉบับปรับปรุง ซึ่งกำหนดให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมปลาย ตลอดจนพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐในเกาหลี ต้องเข้าร่วมหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายประจำปี
ข้อกำหนดใหม่ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันศุกร์ (12 ก.ค.) เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการลดปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศ จาก 25.2 ต่อ 100,000 คน สู่ระดับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ 10.6 ต่อ 100,000 คน ภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
ข้อกำหนดใหม่กำหนดให้องค์กรดังกล่าวข้างต้นจะต้องออกแบบโปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อการป้องกันการทำร้ายตัวเอง (ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์) ให้นักเรียนและพนักงานเข้าร่วมอย่างน้อยปีละครั้ง และต้องรายงานผลต่อกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานระดับคณะรัฐมนตรีอื่นๆ ด้วย
โปรแกรมการฝึกอบรมประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก ส่วนแรกมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย รวมถึงปัจจัยที่มีส่วนทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ลง และกลยุทธ์ในการเอาชนะสภาวะดังกล่าว ส่วนที่ 2 เป็นแนวทางปฏิบัติในการให้คำปรึกษาบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการฆ่าตัวตาย ซึ่งครอบคลุมถึงวิธีสังเกตสัญญาณเตือนและกลยุทธ์การรับมือที่มีประสิทธิผล
ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา เกาหลีมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD 34 ประเทศ จากข้อมูลของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายเกาหลี พบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มิ.ย. 2023 มีคนเกาหลีเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเกือบ 7,000 คน เพิ่มขึ้น 8.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในหมู่วัยรุ่นเกาหลี รายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้วโดยกระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัว แสดงให้เห็นว่าอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในหมู่ชาวเกาหลีที่มีอายุระหว่าง 9-24 ปี ต่อประชากร 100,000 คน อยู่ที่ 10.8 เทียบกับการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่ 3.9 คน และมะเร็งที่ 2.5 คน