ญี่ปุ่นส่งอาหารทะเล เข้าไทยและเวียดนามเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ในขณะที่ ‘จีน’ ยังคงระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เหตุกังวลเรื่องน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีในทะเลญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นกระจายช่องทางการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐฯ ในขณะที่จีนยังคงระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น
ในปีนี้ ญี่ปุ่นตั้งเป้าส่งออก ‘หอยเชลล์’ มายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นสองเท่าจากปีที่แล้ว สู่ระดับ 2.4 พันล้านเยน (560 ล้านบาท) คำประกาศดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่การส่งออกหอยเชลล์ไปยังเวียดนาม ไทย และสหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือน (ถึงเดือน มี.ค.) เพิ่มขึ้น 3 เท่า, 2.3 เท่า และ 1.7 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
นับตั้งแต่ทางการจีนประกาศห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากญี่ปุ่นในเดือน ส.ค. 2023 หลังจากที่ญี่ปุ่นเดินหน้าปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วชุดแรกลงมหาสมุทรแปซิกฟิก อินโดนีเซีย มาเลเซีย และแคนาดา ได้เพิ่มการนำเข้าหอยเชลล์จากญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การส่งออกหอยเชลล์ยังตลาดนอกประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมการสูญเสียผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดอย่างจีน
ในปี 2022 จีนเป็นตลาดส่งออกหอยเชลล์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนถึง 51.3% ตามมาด้วย ไต้หวัน 12.3% สหรัฐฯ 8.6% และเกาหลีใต้ 8.3%
ในการพบปะกับนายธรรมนัส พรหมโพธิ์ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา เท็ตสึชิ ซากาโมโตะ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของญี่ปุ่น เน้นย้ำถึงความปลอดภัยของอาหารทะเลญี่ปุ่น และขอความร่วมมือในการรณรงค์ของโตเกียวเพื่อขยายการขายในประเทศไทย
เจโทร กระทรวงเกษตรของญี่ปุ่น และสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นในรัฐฮูสตัน ร่วมกันเปิดตัว “แพลตฟอร์มสนับสนุนการส่งออก” เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว เพื่อเพิ่มการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารทะเลของญี่ปุ่น และส่งเสริมอาหารญี่ปุ่นในเท็กซัส ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐฯ
ขณะที่ บริษัทญี่ปุ่นได้เริ่มจัดส่งผลิตภัณฑ์ประมงสดไปยังรัฐโคโลราโด ซึ่งเป็นตลาดใหม่สำหรับอาหารทะเลญี่ปุ่น โดยใช้บริการเที่ยวบินตรงของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ระหว่างสนามบินนาริตะ-เดนเวอร์
(1 เยน = 0.23 บาท)