รัฐประหารจะไม่เกิด ถ้านักการเมืองไม่สร้างเงื่อนไข ‘อนุทิน’ ชี้กฎหมายต้านรัฐประหารเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ไร้ประโยชน์ ยัน ‘ภูมิใจไทย’ ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของ ‘เพื่อไทย’
สืบเนื่องจากกรณีที่ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและคณะ ยื่นเสนอร่าง พรบ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..)พ .ศ. … ซึ่งในขณะนี้นั้น อยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็น
ซึ่งในร่างก็หมายฉบับนี้นั้น มีการเสนอให้มีการแก้ไขข้อความในมาตรา 25 ซึ่งระบุให้อำนาจคณะรัฐมนตรี ในการเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบบางรายชื่อนายทหารชั้นนายพลรายชื่อใดรายชื่อหนึ่งหรือทุกรายชื่อก็ได้
และมาตรา 35 เพื่อการห้ามไม่ให้มีการใช้กำลังทหารเพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ, ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการของส่วนราชการต่างๆ, เพื่อธุรกิจหรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา หรือเพื่อกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายประการอื่นด้วย
และมาตรา 42 ว่าด้วยสมาชิกสภากลาโหม โดยให้เหตุผลว่านายกรัฐมนตรีควรจะเป็นประธานสภากลาโหมแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกทั้งภารกิจของทหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ จึงควรให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง (อธิบดีกรมบัญชีกลาง) เข้ามาเป็นสมาชิกสภากลาโหมด้วย และตัดองค์ประกอบของสมาชิกสภากลาโหมในส่วนของกองทัพของบางส่วน
ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าวถึงกรณีนี้ว่า ในส่วนของเรื่องอื่นนั้นยังไม่ทราบ แต่ในเรื่องของการสกัดปฏิวัติตนไม่เห็นด้วย เพราะเงื่อนไขการปฏิวัติมีอยู่ไม่กี่เรื่อง นักการเมืองก็ควรทำตัวให้ดี ซื่อสัตย์สุจริต รักษาความสงบ ดังนั้นเมื่อการเมืองไม่เข้าเงื่อนไขนั้น ก็ปฏิวัติไม่ได้
“เงื่อนไขการปฏิวัติมีอยู่แค่ไม่กี่เงื่อนไข ส่วนใหญ่ก็มาจากนักการเมืองทั้งนั้น เราก็อย่าไปเข้าเงื่อนไขเหล่านั้น มันก็จะปฏิวัติไม่ได้ ต่อให้ออกกฎหมายอะไรมา ถ้ามีการปฏิวัติ สิ่งแรกที่ทำก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นตรงนี้ที่จะทำก็อาจเป็นแค่สัญลักษณ์ บังคับใช้อะไรไม่ได้ดีที่สุดก็ต้องทำตัวให้ดี ต้องซื่อสัตย์สุจริต อย่าขี้โกง อย่าไปยุแยงให้ใครแตกความสามัคคี อย่าไปลงถนนจนทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยทุกอย่างก็มีอยู่แค่นี้” นายอนุทินกล่าว
เพื่อถามว่าถ้าหากว่าพรรคเพื่อไทยไปจับมือกับพรรคประชาชนเพื่อผลักดันกฎหมายนี้ พรรคภูมิใจไทยจะทำอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ถ้าหากว่ามีการผ่านความเห็นชอบตามกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย เราจะไปทำอะไรได้ ต้องเคารพเสียงส่วนมาก
แต่ในส่วนของความเห็นของวุฒิสภานั้น นายอนุทินกล่าวว่าตนไม่ทราบ แต่ยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีความจำเป็น ตนเองอยู่ในการเมืองมาตั้งแต่การปฏิวัติ 23 ก.พ. 2534 ในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (เหตุการณ์ รสช. ซึ่งพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สส. ในขณะนั้น ก่อการปฎิวัติโค่นล้มรัฐบาลพลเอกชาติชาย)
ซึ่งตนเองเห็นว่าเงื่อนไขของการรัฐประหารนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ทั้งนั้น