ผมรู้ผู้ว่าแบงก์ชาติจบเยลล์ ใครไม่จะไม่รู้ แต่ผมเข้าใจว่า คนจบเยลล์คิดได้แค่นี้เหรอ? พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว. พาณิชย์ 26 ก.ย. 2567
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2567 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว. พาณิชย์กล่าวว่า ค่าเงินบาทเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการส่งออก ซึ่งตรงเองและกระทรวงพาณิชย์พยายามออกไปขายของอย่างยากลำบาก เพราะมีคู่แข่งเยอะอยู่แล้ว แต่เมื่อค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้น ก็เหมือนเป็นการมาสกัด ทำให้ขายของแพงขึ้น และขายของได้ยากขึ้น
อีกทั้งยังกล่าวว่า ไม่ควรมีการแบ่งข้างระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ขอให้เอาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก และถ้าค่าเงินบาทอ่อนลง ก็จะทำให้ส่งออกได้มากขึ้น ขายของได้ดีขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ก็ได้รับผลกระทบจากค่าบาทแข็งนะครับ ขายข้าวได้ราคาถูก ขายได้ราคามากขึ้น ขายเป็นดอลลาร์แล้วได้เงินมากขึ้นเนี่ย เกษตรกรก็ได้เงินมากขึ้น” นายพิชัยกล่าว อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่าหากค่าเงินบาทอ่อนอาจจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นเลยด้วยซ้ำไป และอาจจะทำให้สามารถเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำได้ด้วย
นายพิชัยกล่าวพาดพิง ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า ธปท. ด้วยว่า “ที่ผมไปถามท่านเล่น ๆ ไว้ ผมไม่ใช่ไม่ทราบครับ ผมรู้ว่าท่านจบเยลล์ (มหาวิทยาลัย เยลล์, สหรัฐอเมริกา) ใครไม่รู้? แต่ผมเข้าใจว่าคนจบเยลล์คิดได้แค่นี้เหรอ ? แค่นี้เองที่ผมถาม ไม่ใช่ผมไม่รู้ ถ้าไม่รู้จะไปพูดอย่างนี้ได้อย่างไร?”
นายพิชัยกล่าวว่าการลดค่าเงินบาทให้อ่อนลงจะมีส่วนช่วยต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ และเรียกร้องให้ ธปท. รับผิดชอบถ้าหากว่าค่าเงินบาทแข็งตัวจนส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลง ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์พยายามอย่างเต็มที่แล้ว
อีกทั้งยังกล่าวว่า ความมีอิสระของ ธปท. นั้นก็เพื่อให้ประเทศเจริญ ไม่ใช่เพื่อให้ออกมาขวางทุกอย่าง และการที่ ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวว่าไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องไล่ล่า GDP นั้น ตนเองคิดว่าท่านเข้าใจผิด เร็ว ๆ นี้ แบงก์ชาติจีนยังออกแพกเกจขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจจีนไม่ได้แย่เหมือนไทย
นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมตนจึงถามว่าท่านจบอะไรมาก เพราะเรื่องลักษณะนี้ คนที่จบมาอย่างท่านก็น่าจะเข้าใจเรื่องเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นแล้ว ว่าจะต้องทำอย่างไร จะต้องไล่ล่า GDP อยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นเมื่อไรเราจะเป็นประเทศมีรายได้สูง หากไม่มีรายได้ ก็จะไม่มีการกระจายรายได้
นายพิชัยยืนยันว่าที่กล่าวออกมานี้ ไม่ได้ต้องการให้มีความขัดแย้ง แต่เราต้องคิดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และความเจริญของประเทศเป็นหลัก
“ประเทศที่มีค่าเงินอ่อน เจริญทุกประเทศครับ ผมยืนยัน ไปดูได้เลย ประเทศที่มีค่าเงินอ่อนเจริญทุกประเทศ มีประเทศที่ค่าเงินแข็งมีปัญหาด้านการเจริญเติบโตตลอด” นายพิชัยกล่าว