นานาชาติรุมประนามสหรัฐ จากการยับยั้งมติคณะมนตรีความมั่นคงให้หยุดยิงในฉนวนกาซา เปิดไฟเขียวให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 สหรัฐอเมริกาได้ใช้สิทธิวีโต้ เพื่อยับยั้งร่างมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซาเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งทำให้เปิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางบนเวทีโลก ทั้งจากฝ่ายพันธมิตรของสหรัฐ และคู่แข่งอย่างรัสเซีย และจีน
สำหรับคะแนนเสียงในการลงมติในครั้งนี้นั้น มีเสียงสนับสนุนมากถึง 13 เสียงจากองค์ประชุม 15 โดยสหราชอาณาจักรงดออกเสียง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกในการยุติความขัดแย้งที่สร้างความเสียหายซึ่งคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปแล้วกว่า 29,000 คน และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากตัวแทนของประเทศ และผู้นำโลกดังต่อไปนี้
จีน
สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า จาง จุน อุปทูตจีนประจำสหประชาชาติแสดงความผิดหวังและไม่พอใจต่อสหรัฐ ฯ ระบุว่าเป็นการส่งข้อความที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ในฉนวนกาซา อันตรายมากยิ่งขึ้น
“นี่ไม่ต่างอะไรกับการเปิดไฟเขียวให้มีการสังหารหมู่ต่อไป” จางกล่าว และกล่าวว่า “มีเพียงการดับไฟสงครามในฉนวนกาซาเท่านั้น ที่โลกจะสามารถป้องกันไม่ให้ไฟนรกกลืนกินทั่วทั้งภูมิภาค”
รัสเซีย
วาซิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติกล่าวว่าการวีโต้ของสหรัฐในครั้งนี้ จะเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่มืดมนของคณะมนตรีความมั่นคง สหรัฐพยายามที่จะเล่นเกมยื้อเวลาให้อิสราเอลสามารถดำเนิน “แผนการที่ไร้มนุษยธรรม” บีบชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซา ชำระล้างวงล้อมอย่างสมบูรณ์ แต่ไม่ว่ารสขมที่ค้างคอนั้นจะขมขื่นแค่ไหน เราก็จะไม่ยอมแพ้
ฝรั่งเศส
นิโคลัส เดอ ริวิแยร์ ทูตสหประชาชาติของฝรั่งเศส โพสต์ทวิตเตอร์ของเขาว่า “ฝรั่งเศสเสียใจที่มติของแอลจีเรียที่เรียกร้องให้หยุดยิงในฉนวนกาซาไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากสถานการณ์หายนะในพื้นที่ ตัวประกันทั้งหมดจะต้องได้รับการปล่อยตัวแล้ว และจะต้องดำเนินการหยุดยิงทันที และฝรั่งเศสจะยังคงมุ่งมั่นต่อคณะมนตรีความมั่นคงต่อไป”
แอลจีเรีย
อามาร์ เบนด์จามา ทูตแอลจีเรียกล่าวว่า คณะมนตรีความมั่นคงล้มเหลวอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อตะวันออกกลางโดยรวม ประชาคมระหว่างประเทศควรตอบสนองต่อข้อเรียกร้องให้ยุติการสังหารชาวปาเลสไตน์ด้วยการเรียกร้องให้หยุดยิงทันที
ผู้ที่ขัดขวางข้อเรียกร้องควรทบทวนนโยบายของตน เนื่องจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดในวันนี้ จะส่งผลเสียหายต่อภูมิภาคของเราและโลกของเราในวันหน้า ก่อให้เกิดความรุนแรงและความไม่มั่นคง
“ดังนั้นจงถามตัวเอง สำรวจมโนธรรมของคุณ การตัดสินใจของคุณในวันนี้จะทำให้เกิดอะไร? ประวัติศาสตร์จะตัดสินคุณอย่างไร” อามาร์กล่าว
กลุ่มฮะมาส
กลุ่มฮะมาส ซึ่งเป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่งในปาเลสไตน์กล่าวว่าความพยายามของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการขัดขวางร่างมติของแอลจีเรียนั้น เป็นประโยชน์ต่อวาระการยึดครองของอิสราเอล ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสังหารและขับไล่ชาวปาเลสไตน์ และสหรัฐฯจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน
“จุดยืนของอเมริกาถือเป็นการเปิดไฟเขียวสำหรับการยึดครองที่จะก่อเหตุสังหารหมู่มากขึ้นและสังหารผู้บริสุทธิ์ ของเราด้วยการวางระเบิดและความอดอยาก” กลุ่มฮะมาสระบุ
รัฐบาลปาเลสไตน์
สำนักประธานาธิบดีปาเลสไตน์กล่าวว่าการกระทำของสหรัฐฯ เป็นการท้าทายประชาคมระหว่างประเทศ และเปิดไฟเขียวให้อิสราเอลเข้าการยึดครอง รุกรานประชาชนในฉนวนกาซาต่อ และให้เปิดการโจมตีอย่างนองเลือดต่อชาวเมืองราฟาห์
สำนักประธานาธิบดีระบุว่าสหรัฐฯ ต้องรับผิดชอบต่อการให้การสนับสนุนและให้ความคุ้มครองต่อการเจ้าโจมตีอย่างป่าเถื่อนของอิสราเอล ต่อเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุในฉนวนกาซา ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นหุ้นส่วนในอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมสงครามที่กองกำลังอิสราเอลกำลังกระทำ
กาตาร์
อัลยา อาเหม็ด ไซฟ อัล ทานี เอกอัครราชทูตสหประชาชาติของกาตาร์กล่าวแสดงความเสียใจที่คณะมนตรีความมั่นคงล้มเหลวในการลงมติในร่างที่แอลจีเรียเสนอ และให้คำมั่นที่ที่จะผลักดันข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซาต่อไป
ซาอุดี อาระเบีย
กระทรวงต่างประเทศ ซาอุดี อาระเบียโพสต์ทวิตเตอร์ แสงดความเสียใจต่อความล้มเหลวในการผ่านร่างข้อตกลงหยุดยิงในทันที พร้อมทั้งโพสต์ภาพแถลงการณ์ของกระทรวงเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2567 ซึ่งระบุถึงความตั้งใจที่จะทำให้เกิดการหยุดยิงตามข้อเสนอของแอลจีเรียเพื่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ด้วยความน่าเชื่อถือและปราศจาก 2 มาตรฐาน
โดยคำนึงถึงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ย่ำแย่ จากการปฏิบัติการทางทหารที่เพิ่มขึ้น และคุกคามสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
นอร์เวย์
ทูตนอร์เวย์ประจำสหประชาชาติโพสต์ทวิตเตอร์แสดงความเสียใจที่คณะมนตรีความมั่นคง ไม่อาจลงมติหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมในฉนวนกาซาได้ และระบุว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องยุติความสยองขวัญในฉนวนกาซา”
คิวบา
มิเกล ดิแอซ-กาเนล เบอร์มูเดซ ประธานาธิบดีคิวบา กล่าวว่าสหรัฐฯ ทำให้เกิดความซับซ้อนในการก่ออาชญากรรมของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ และโพสต์โซเชียลมีเดียว่า “พวกเขา (สหรัฐฯ) เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับอิสราเอลในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แอกเนส คัลลามาร์ด ผู้อำนวยการกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าสหรัฐฯ เลือกที่จะไม่ปกป้องชาวปาเลสไตน์จากความเสี่ยงร้ายแรงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศและความเป็นสากล และไม่ป้องกันการสังหารหมู่และความทุกข์ทรมานครั้งใหญ่