
ปฎิบัติการ IO จุดพลิกเกมในสงคราม 9 ทัพ พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ในการทำสงครามกับพม่าที่มีกำลังมากกว่าเท่าตัว
ปฎิบัติการข่าวสาร (Information Operation: IO) เป็นสิ่งที่ถูกเข้าใจผิดอย่างมาก ว่าหมายถึงการสร้างบัญชีอวตาร เพื่อการให้ข้อมูลด้วยวัตถุประสงค์บางอย่างบนโซเชียลมีเดีย
แต่จากนิยามของกองทัพสหรัฐแล้ว IO นั้นหมายถึง “การปฎิบัติการแบบบูรณาการระหว่างปฏิบัติการทางทหาร ที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูล ร่วมกับการปฏิบัติการอื่น ๆ เพื่อมีอิทธิพล ขัดขวาง บ่อนทำลาย หรือแย่งชิงอำนาจการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม และในขณะเดียวกันก็ปกป้องตนเองด้วย” [1] [2]
หรืออาจจะสรุปได้โดยรวมว่า IO นั้นหมายถึงปฎิบัติการใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น ๆ
และถึงแม้ว่านิยามของ IO จะเพิ่งถูกบัญญัติขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ก็ตาม แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว การใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารนั้น ถูกใช้งานมาตั้งแต่โบราณแล้ว โดยเอกสารที่กล่าวถึงการใช้งาน IO ฉบับที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดในโลก คือ “พิชัยสงครามของซุนวู” บทที่ 13 ว่าด้วยการใช้สายลับ
ซุนวูไม่ได้กล่าวถึงการใช้สายลับแค่เพียงในแง่ของการหาข่าวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการใช้สายลับสองหน้าเพื่อการปล่อยข่าวปลอม (Fake News) ให้แก่ฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย
—
สำหรับในประวัติศาสตร์ไทยนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีการกล่าวถึงบทบาทของปฎิบัติการ IO ในประวัติศาสตร์มากนัก นอกจาก “เสือหมอบแมวเซา” ที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว บทบาทของวีรบุรุษเหล่านี้ กลับส่งผลกระทบต่อหน้าประวัติศาสตร์ไทยของเราอย่างมาก โดยเฉพาะในสงครามเพื่อการป้องกันประเทศของเรา
ใน “สงคราม 9 ทัพ” ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2328 พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่า หมายจะยึดครองประเทศไทยให้ได้อีกครั้ง หลังจากที่เคยตีกรุงศรีอยุธยาแตกมาแล้วในปี 2310 ยกกองทัพที่มีกำลังพลกว่า 144,000 คน โดยแบ่งออกเป็น 9 ทัพ เดินทางมาใน 5 เส้นทาง
ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีกำลังพลพร้อมรบอยู่เพียง 7 หมื่นคน น้อยกว่าพม่าถึง 2 เท่า แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ฝ่ายไทยของเราที่สามารถแบ่งกำลังได้เพียงแค่ 3 กองทัพ กลับสามารถสกัดกั้นพม่าที่ยกมาจาก 9 ทิศทาง ได้สำเร็จ และสร้างความเสียหายให้แก่กองทัพพม่าอย่างหนัก
และสิ่งที่ทำให้กองทัพไทยมีความเหนือกว่านั้น ก็คือ “ข้อมูล”
กองทัพไทยในเวลานั้น มีขีดความสามารถในการหาข้อมูลจากเหล่าเสือหมอบแมวเซา หรือหน่วยสอดแนม (ปัจจุบัน หน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้คือ “กรมข่าวทหารบก”) จนสามารถสืบหาข้อมูลความเคลื่อนไหวของทัพพม่า ทั้งจำนวนกำลังพล เส้นทางที่ใช้ และการตั้งค่าย
อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ชายแดนและใกล้เคียงในการแจ้งข่าวสาร หรือสิ่งที่พบเห็นให้กับทางการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลทางทหาร โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายมอญ ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกแก่กองทัพไทยได้ จากความชำนาญด้านภาษาพม่าและพื้นที่
นอกจากนี้ กองทัพไทยยังมีการส่งสายลับแทรกซึมเข้าไปในกองทัพพม่า และอาจมีการติดต่อกับบุคคลที่อยู่ในฝ่ายพม่า แต่มีใจเอนเอียงมาทางฝ่ายไทย จนทำให้กองทัพไทยรับทราบความเคลื่อนไหววงในของพม่า
การกรองข่าว เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลจริง ผ่านกรรมวิธีข้อมูลวิเคราะห์และประเมินความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและนำไปใช้ในการวางแผนการรบเองก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะข้อมูลที่ผิดพลาดอาจจะนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตไพร่พลนับหมื่นได้
ข้อมูลที่ใช้ในการรบในครั้งนั้น ถูกใช้ตั้งแต่ในระดับยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ทั้งการเลือกจุดวางกำลัง ด้วยกำลังพลที่เหมาะสม อีกทั้งยังมีการหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อการวางแผนบั่นทอนขีดความสามารถของพม่า จนในที่สุด ฝ่ายไทยที่มีกำลังน้อยกว่าเท่าตัว กลับพลิกเกมจนได้รับชัยชนะ และสร้างความสูญเสียให้แก่กองทัพพม่าไปกว่าครึ่ง
ชัยชนะอย่างงดงามในสงคราม 9 ทัพ นอกจากสะท้อนพระปรีชาสามารถในการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการป้องกันประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 1 แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของวีรชนที่เราไม่รู้จักชื่อ ที่ทำหน้าที่เสี่ยงตายหาข้อมูลที่สำคัญมาใช้ในการวางแผนปกป้องประเทศ
อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของ “เครือข่ายข่าวสารภาคประชาชน” ในการให้ข้อมูลแก่ทางการ เพื่อใช้ในการวางแผนการรบ แสดงให้เห็นถึงความสมัครสมาน สามัคคีของคนไทย ในการปกป้องประเทศ ภายใต้การนำของผู้นำประเทศ ที่ทรงพระปรีชาสามารถ จนสามารถรักษาอธิปไตย และเอกราชให้แก่ลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
คอลัมนิสต์ The Structure
อ้างอิง
[1] US Department of Defense, “Publication 3-13 Information Operations”, https://irp.fas.org/doddir/dod/jp3_13.pdf
[2] US Army, “FM 3-13 Inform and Influence Activities”, https://irp.fas.org/doddir/army/fm3-13.pdf