อินโดนีเซียเล็งสร้าง ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพ 100 แห่ง เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานให้พร้อมไปทำงานต่างประเทศ
กระทรวงคุ้มครองแรงงานต่างด้าวอินโดนีเซีย เล็งจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมอาชีพ 100 แห่ง เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความพร้อมไปทำงานต่างประเทศ
“ประธานาธิบดีได้ร้องขอ และจะสนับสนุนการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมอาชีพประมาณ 100 แห่ง” อับดุล กาดีร์ คาร์ดิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคุ้มครองแรงงานต่างด้าว กล่าวเมื่อวันจันทร์ (6 ม.ค.)
คาร์ดิง กล่าวว่า กระทรวงฯ ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมอาชีพ (LPK) ซึ่งจะเสริมศูนย์ฝึกอบรมอาชีพ (BLK) ที่บริหารจัดการโดยกระทรวงแรงงาน โดยสถาบันเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมทักษะที่จำเป็นให้กับบุคคลที่กำลังหางานในต่างประเทศ
พร้อมกับยืนยันว่า ทางกระทรวงฯ จะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงกระทรวงการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งทางกระทรวงฯ คาดหวังว่า โรงเรียนอาชีวศึกษา โรงเรียนพยาบาล และสถาบันเฉพาะทางอื่นๆ จะปรับโปรแกรมการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับโอกาสในการทำงานในต่างประเทศ ผ่านความร่วมมือดังกล่าว
คาร์ดิง คาดหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้ LPK และ BLK สามารถเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทักษะด้านภาษา ซึ่งจะทำให้แรงงานมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เมื่อเทียบกับแรงงานจากฟิลิปปินส์ และทักษะสำคัญอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้การจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าวสอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานในต่างประเทศมากขึ้น
คาร์ดิง ยังเปิดเผยด้วยว่า รัฐบาลมีแผนส่งแรงงานอย่างน้อย 425,000 คนไปยังต่างประเทศในปี 2025 ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.52% และสร้างรายได้จากเงินตราต่างประเทศได้เกิน 300 ล้านล้านรูเปียห์ (6.4 แสนล้านบาท)
ข้อมูลของกระทรวงแรงงานระบุว่า อินโดนีเซียได้ส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ 297,000 คน ในปี 2024 ซึ่งทำให้มีรายได้จากเงินตราต่างประเทศ 251 ล้านล้านรูเปียห์ (5.3 แสนล้านบาท) และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ 0.36%
คาร์ดิง ระบุว่า การส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศยังช่วยลดอัตราการว่างงานลง 3.98% จากจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด 7.47 ล้านคนในปี 2024
(1 รูเปียห์ = 00.21 บาท)