เวียดนามรักษาเกาะฟูกั๊วจากกัมพูชาได้อย่างไร เปิดกรณีศึกษาความขัดแย้งด้านอาณาเขตทางทะเล ที่สามารถจบลงได้ด้วยการเจรจาอย่างสันติ
ท่ามกลางกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับสิทธิเหนือเกาะกูดระหว่างไทย และกัมพูชา ว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้ที่มีสิทธิเหนือเกาะแห่งนี้ และรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ ต่างก็ถูกประชาชนของตนเองโจมตีในเรื่องนี้เหมือน ๆ กัน และรัฐบาลทั้ง 2 ต่างให้คำตอบแก่ประชาชนเหมือน ๆ กันว่า จะต้องมีการเจรจาผ่าน MOU44
อย่างไรก็ดี สำหรับคนไทยแล้ว การออกมาประกาศสิทธิ์เหนือเกาะกูดนั้น เป็นความพยายามในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ในขณะที่ทางฝั่งกัมพูชานั้น ชาวกัมพูชามีบาดแผลจากในอดีตที่ประเทศของตนนั้น ไม่สามารถรักษาเกาะฟูกั๊วเอาไว้ได้ และสูญเสียดินแดนแห่งนี้ให้กับเวียดนาม
ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ชาวกัมพูชา ต่างแสดงความรู้สึกเจ็บแค้นจากการที่เวียดนามทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์โฮ จิมินห์ ประธานาธิบดีคนแรกของเวียดนามบนเกาะฟูกั๊ว พร้อมทั้งกล่าวโทษรัฐบาลกัมพูชา ที่ไม่สามารถรักษาอธิปไตยของชาติเอาไว้ได้
ดังนั้น กรณีของเกาะฟูกั๊วนั้น จึงเป็นกรณีศึกษาให้ทางการไทยนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการรักษาอธิปไตยของไทยได้เช่นกัน
ประวัติศาสตร์ของเกาะฟูกั๊วนั้น ฝ่ายกัมพูชาพยายามกล่าวอ้างว่ามีปรากฎชื่อเรียกเกาะฟูกั๊ว ซึ่งชาวกัมพูชาเรียกว่าเกาะตรัน ในพระราชกฎษฎีกาของราชสำนักกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2158 แล้ว แต่ทั้งนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานที่ยืนยันคำกล่าวอ้างนี้
อย่างไรก็ดี ในปี 2214 ปรากฏชาวจีนชื่อ ม่อจิ่ว ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์กัมพูชาให้เป็นออกญา (พระยา) ให้ปกครองดินแดนในอ่าวไทย ซึ่งรวมไปถึงเกาะฟูกั๊วด้วย โดยมีหน้าที่ในการดูแลการค้าทางทะเลต่างพระเนตรพระกรรณกษัตริย์กัมพูชา
ทั้งนี้ราชสำนักไทยในเวลานั้นเรียกดินแดนที่ม่อจิ่วปกครองว่า “เมืองบันทายมาศ หรือ พุทไธมาศ” และนักประวัติศาสตร์เรียกดินแดนนี้ว่า “ราชรัฐห่าเตียน”
อย่างไรก็ดี ในปี 2250 ม่อจิ่ว ได้รับยศ “โฮ่ว” (พระยา) จากราชสำนักเวียดนามด้วย ทำให้เวียดนามถือว่าราชรัฐห่าเตียนนั้น เป็นดินแดนในการปกครองของเวียดนาม แต่ทั้งนี้ราชรัฐท่าเตียนยังคงส่งส่วยให้กับราชสำนักกัมพูชาอยู่
ในปี 2280 ราชรัฐห่าเตียนแข็งเมืองกับกัมพูชา ทำให้กัมพูชาส่งกองทัพมาโจมตี แต่ก็ล้มเหลว ทำให้ราชรัฐห่าเตียนเป็นอิสระจากกัมพูชาอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ในศึกชิงบัลลังค์ระหว่างองค์หิง กับ นักองค์ตน นักองค์ตนต้องการพึ่งพาอิทธิพลของราชรัฐห่าเตียน จึงยอมเป็นลูกบุญธรรมของม่อ ซื่อหลิน บุตรชายของม่อจิ่ว จนนักองค์ตนชิงราชสมบัติมาได้สำเร็จ
อย่างไรก็ดี ในปี 2376 ลูกหลานตระกูลม่อ เข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อกบฎในเวียดนาม และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ราชรัฐห่าเตียน ซึ่งรวมถึงเกาะฟูกั๊วจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนามอย่างสมบูรณ์
และเมื่อชาวตะวันตกเริ่มเดินทางมายังเอเชียอาคาเนย์ พระสังฆราชอาดรัง – ปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอน บาทหลวงชาวฝรั่งเศส บันทึกถึงเกาะฟูกั๊วเอาไว้ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ว่า ประชากรผู้อยู่อาศัยบนเกาะนี้นั้นเป็นชาวเวียดนาม ไม่ใช่ชาวกัมพูชา
อย่างไรก็ดี ปรากฏเอกสารว่าในปี 2399 กษัตริย์กัมพูชา แจ้งต่อทูตฝรั่งเศสว่ากัมพูชาตั้งใจที่จะยกเกาะฟูกั๊วให้ฝรั่งเศส โดยมีจุดประสงค์เพื่อการสร้างพันธมิตรทางทหารกับฝรั่งเศส เพื่อหลีกเลี่ยงอิทธิพลจากเวียดนาม แต่ทางฝรั่งเศสมิได้ตอบรับแต่อย่างใด อีกทั้งในวารสาร The Nautical ฉบับปีเดียวกันระบุว่ากัมพูชาเป็นผู้ยึดครองเกาะนี้เอาไว้
และเมื่อฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเวียดนามในวันที่ 25 พ.ย. 2399 กษัตริย์กัมพูชาได้มีพระราชสาสน์ไปยังจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ของฝรั่งเศส เพื่อการอ้างสิทธิเหนือเกาะฟูกั๊ว และดินแดนที่เคยเป็นราชรัฐห่าเตียน ถึงแม้ว่าดินแดนเหล่านั้นจะถูกเวียดนามปกครองมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม
ในปี 2482 จูลส์ เบรวีย์ ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนของฝรั่งเศส ประกาศเส้นแบ่งทางทะเล เพื่อใช้ประโยชน์ในการปกครอง โดยกำหนดให้เกาะฟูกั๊วอยู่ภายใต้การปกครองของดินแดนเวียดนามที่ฝรั่งเศสปกครอง ซึ่งกัมพูชาในเวลานั้นก็ไม่ได้ทำการคัดค้าน เนื่องจากว่าในเวลานั้นกัมพูชาเองก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนของฝรั่งเศสเช่นกัน
ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสยอมคืนเอกราชให้กับชาติอาณานิมคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2510 รัฐบาลเวียดนามและกัมพูชา ได้เจรจาแบ่งดินแดนกัน โดยยอมรับเส้นแบ่งที่เบรวีย์ได้เคยแบ่งเอาไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้เกาะฟูกั๊วตกเป็นของเวียดนาม
แต่ในวันที่ 1 พ.ค. 2518 กลุ่มกองกำลังเขมรแดงได้บุกเข้ายึดเกาะฟูกั๊ว แต่เวียดนามสามารถเข้ายึดคืนได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างกัมพูชาและเวียดนามจนกลายเป็นสงครามระหว่างเวียดนามและกัมพูชาในปี 2521 และสงครามครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง 14 ปี
จนในเดือน ก.ค. 2525 รัฐบาลกัมพูชา และเวียดนามบรรลุข้อตกลงในการยุติข้อพิพาทระหว่างกัน และมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการชายแดนร่วม (Joint Border Commission – JBC) ระหว่างกันเพื่อการเจรจาแบ่งเขตแดนกันอย่างสันติ จนได้ข้อสรุปในปี 2542 ว่ารัฐบาลทั้ง 2 ยอมรับเส้นแบ่งของเบรวีย์ ซึ่งทำให้เกาะฟูกั๊วนั้น เป็นของเวียดนาม ภายใต้การรับรองจากรัฐสภาของทั้ง 2ประเทศ
และในปัจจุบัน เกาะฟูกั๊วนั้น ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลเวียดนามได้ลงทุนไปมากเพื่อการพัฒนาเกาะแห่งนี้ให้กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนานาชาติ ซึ่งแม้แต่คนไทยเราเองก็นิยมไปท่องเที่ยวเกาะฟูกั๊วด้วยเช่นกัน
—
จากกรณีของเกาะฟูกั๊วนั้น จะเห็นได้ว่ามีความซับซ้อนมากกว่าเกาะกูดมากนัก เพราะว่ากัมพูชาเองก็มีเอกสารยืนยันว่าเกาะฟูกั๊วเคยเป็นของกัมพูชามาก่อน แต่ถูกเวียดนามแย่งชิงไป
(เกาะฟูกั๊วเคยถูกประเทศไทยยึดครองเอาไว้ในช่วงกรุงธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ด้วย แต่ทางการไทยไม่สามารถรักษาเกาะแห่งนี้เอาไว้ได้ เนื่องจากอยู่ห่างไกลเกินไป)
ในขณะที่ไทยมีหลักฐานยืนยันว่าเกาะกูดนั้นเป็นของไทยมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ในขณะที่ทางการกัมพูชายังไม่เคยแสดงหลักฐานการยึดครองเกาะกูดเอาไว้
อีกทั้งภายหลังการทำข้อตกลงระหว่างไทยและกัมพูชาในปี 2543 และ 2544 ((MOU43 และ MOU 44) รัฐบาลไทยและกัมพูชา ต่างยึดถือสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 เป็นบรรทัดฐานในการเจรจาแบ่งเขตแดนทางบก
และประชากรเกือบ 3 พันคนบนเกาะกูดนั้น ต่างก็ล้วนแต่เป็นคนไทยทั้งสิ้น อีกทั้งกองทัพเรือไทยได้มีการประกาศตำแหน่งไฟสัญญาณสำหรับการเดินเรือเอาไว้ในวารสาร List of lights ซึ่งเป็นวารสารการเดินเรือที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับ
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่ากัมพูชานั้น รู้ตัวดีอยู่แล้วว่าตนเองสูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะฟูกั๊วมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังพยายามที่จะอ้างว่าเกาะฟูกั๊วนั้นเป็นของกัมพูชามาตลอด แม้แต่หลังจากที่รัฐบาลทั้ง 2 ได้ลงนามการแบ่งดินแดนกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายไปแล้วก็ตาม ชาวกัมพูชาก็ยังคงคิดว่าเกาะฟูกั๊วนั้นเป็นของตนอยู่
อีกทั้งประชาชนชาวกัมพูชา ก็มักจะถูกกระแสชาตินิยมชักจูงเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งโดยฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านหลายครั้ง และทั้งไทยและเวียดนาม ต่างก็ตกเป็นเป้าการโจมตีโดยกลุ่มชาตินิยมกัมพูชาหลายหน
แต่ถึงแม้ว่าเวียดนามจะถูกกระทำเช่นนั้น แต่สุดท้ายเวียดนามได้ทำการตกลงแบ่งเขตแดนกับกัมพูชาอย่างสันติ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการชายแดนร่วม (JBC) และได้รับสิทธิที่ควรจะเป็นของเวียดนามมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายนานาชาติ และพัฒนาเกาะฟูกั๊วได้อย่างสง่างาม
ดังนั้น การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ทางการไทยสามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าเกาะกูดนั้นเป็นของไทย
แต่สิ่งที่คนไทยทั้งประเทศจะต้องให้ความสำคัญจริง ๆ คือการแบ่งเขตแดนทางทะเลในอ่าวไทย ซึ่งมีทรัพยากรพลังงานมูลค่ามหาศาลอยู่ใต้ทะเลต่างหาก
เราไม่ควรจะหลงประเด็นไปกับการได้ครองเกาะกูดที่เป็นของเราอยู่แล้ว 100% ไปกับกระแสสังคม เหมือนอย่างที่ชาวกัมพูชาถูกฝ่ายการเมืองของตนนำมาใช้หลายครั้ง แต่ควรที่จะพิจารณาให้เห็นถึงผลประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานใต้ทะเลจำนวนมหาศาล ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ไปจนถึงลูกหลานของเรา และรักษาผลประโยชน์เหล่านี้ไว้ให้อยู่คู่กับคนไทยตลอดไป