
SMEs ไทย จะเอาตัวรอดอย่างไร ในวันที่ชาติมหาอำนาจยักษ์ใหญ่กำลังเหยียบย่ำพวกเรา 2 กลไกเพื่อการโต้กลับของ SMEs ไทย
คำถามตั้งต้นในวันนี้ คือ ในโลกที่กติกาถูกเขียนใหม่โดยคนไม่กี่ประเทศ แล้ว SME ไทย จะมีที่ยืนตรงไหนในสมการนี้? ขณะนี้เรากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของระเบียบเศรษฐกิจโลก เส้นแบ่งของขั้วอำนาจทางการค้าเริ่มไม่มั่นคงเหมือนเดิมอีกต่อไป
โลกกำลังก้าวสู่ “ยุคการค้าเชิงภูมิรัฐศาสตร์” (Geo-economic Order) ที่ใครมีอำนาจต่อรองสูง ก็สามารถเขียนกติกาใหม่ให้ตัวเองได้เปรียบ
ในภาพใหญ่นั้น เราเห็นการต่อรองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ การเร่งขยายสมาชิก BRICS+ การตั้งพันธมิตรการค้ารูปแบบใหม่อย่าง IPEF และการจำกัดเทคโนโลยีระหว่างกลุ่มประเทศจากที่เคยร่วมมือกัน
แต่ในอีกมุมที่เงียบกว่า คือคำถามว่า SME ไทย ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่ป้อนมูลค่ากว่า 35.2% ของ GDP จะไปต่ออย่างไร? เพราะหากยักษ์ใหญ่ของโลกกำลังตั้งกติกาใหม่ คนตัวเล็กที่ไม่อยู่ในโต๊ะ อาจไม่มีแม้แต่สิทธิ์เลือกเกมที่ตัวเองจะเล่นได้เลย
มิติที่ 1 ทำความเข้าใจใหม่ SME ไม่ใช่แค่ “คนตัวเล็ก” แต่คือ “เป้าแรกของแรงปะทะ”
ต้องเข้าใจว่าคนตัวเล็กในระบบเศรษฐกิจโลก มักไม่ใช่แค่คนที่เปราะบาง แต่คือคนที่ ถูกปะทะก่อนและฟื้นช้ากว่า เพราะเมื่อการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐต่อโลกเริ่มส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตในเอเชีย SME ไทยจำนวนมากที่เคยอยู่ในปลายน้ำของ Value chain ก็เริ่มได้รับผลกระทบทันที ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนส่งออก ธุรกิจโลจิสติกส์รายย่อยหรือแม้แต่ภาคเกษตรที่ต้องเผชิญกับราคาผันผวนในตลาดโลก
ที่น่ากังวลกว่าคือ SME เหล่านี้ “ไม่มีข้อมูลเชิงลึก” และ “ไม่มีอำนาจต่อรอง” เพราะโครงสร้างนโยบายของไทยยังมอง SME ว่าเป็น “ผู้ประกอบการขนาดเล็กในท้องถิ่น” ไม่ใช่ “หน่วยยุทธศาสตร์ในการออกแบบมูลค่าในระบบการค้าโลก”
สิ่งที่ควรเริ่มต้นทันทีคือการ ตั้ง “SME Global Risk Desk” ภายใต้ BOI หรือกระทรวงพาณิชย์ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มภูมิรัฐศาสตร์แบบ real-time และสื่อสารอย่างชัดเจนให้ SME เข้าใจ ไม่ใช่เพียงสรุปข่าว แต่ต้องเป็นการแปลความเสี่ยงระดับโลกสู่แนวทางการจัดการระดับกิจการ
เพราะในศึกเศรษฐกิจโลก ข้อมูลคืออาวุธ แต่คนตัวเล็กจำนวนมากยังไม่มีแม้แต่เข็มทิศ
มิติที่ 2 เปลี่ยนจุดยืน จาก “อยู่ในตลาด” มาเป็น “ออกแบบตลาด”
ยิ่งเราอยู่นานในฐานะผู้ผลิตราคาต่ำ เรายิ่งถูกแซงในสมรภูมิที่ “มูลค่า” สำคัญกว่าต้นทุน ซึ่งนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน เช่น กองทุนตั้งตัว หรือ Digital Platform เพื่อ SME ถือเป็นก้าวแรกที่ดีในการ “ขยายพื้นที่” ให้คนตัวเล็กได้มีที่ยืน แต่คำถามคือ พอมีที่ยืนแล้ว เราจะยืนอย่างไรให้มีอำนาจต่อรอง? เพราะตลาดโลกวันนี้ ไม่ได้ต้องการแค่สินค้า แต่ต้องการ “ผู้สร้างมูลค่าที่เชื่อถือได้”
ผมจึงขอเสนอแนวคิด “Stay Small but Think Global” หรือการเป็น SME ที่แม้จะไม่ใหญ่ แต่มี mindset และ positioning ที่พร้อมสู่ตลาดโลก
แนวนโยบายที่ควรต่อยอดทันที
สร้างแบรนด์ร่วมระดับชาติ (Thai Origin SME Seal) ให้ SME ที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG, IP, และมาตรฐานคุณภาพ มีโอกาสมากขึ้น ส่งเสริมให้แบรนด์ของเหล่านี้ “มีเสียง” ในระดับภูมิภาค
กองทุน Matching Investment สำหรับ SME ที่มีศักยภาพเป็น OBM (Original Brand Manufacturer) ไม่ใช่แค่เงินกู้ แต่คือการร่วมลงทุนจากรัฐในอัตราที่จูงใจ
Co-Market Hub ในตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ โดยรัฐทำหน้าที่ “ตั้งศูนย์” และ SME มา “ทดลองขยาย” ได้ภายใต้ต้นทุนต่ำ
อย่าลืมว่าในระบบโลกแบบใหม่ ผู้ที่ “ออกแบบตลาด” ไม่ใช่แค่คนที่ใหญ่ แต่คือคนที่ “มีของ มีความเฉียบ และมีเครือข่าย” ซึ่ง SME ไทยจำนวนไม่น้อยมีสิ่งนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ถูกดันขึ้นเวที
มิติที่ 3 สร้างขบวน SME ที่ส่งเสริมกัน เพราะ SME ไม่ควรเดินเดี่ยว แต่ต้องเป็น “พลังต่อรองร่วม”
ศึกครั้งนี้ไม่ใช่ของผู้ประกอบการคนใดคนหนึ่ง แต่คือเรื่องของขบวนเศรษฐกิจไทยที่ต้อง “รวมเสียงเล็กให้กลายเป็นเสียงใหญ่” ถึงเวลาแล้วที่ SME จะไม่ใช่แค่ “ผู้รับฟังนโยบาย” แต่ต้องกลายเป็น “เจ้าของเสียง” ในการออกแบบทิศทางเศรษฐกิจ
ผมอยากเสนอให้รัฐบาล ตั้งกลไกใหม่ 2 ประการ
- Thai SME Connect Abroad ใช้เครือข่ายสถานทูต หอการค้า และคนไทยในต่างแดน เปิดพื้นที่เจาะตลาดใหม่ให้ SME ไทย รัฐไม่ใช่แค่ facilitator แต่เป็น “co-strategist”
- ตั้ง “SME Assembly” ทุกไตรมาส ให้รัฐ เอกชน นักวิชาการ ถกกันถึงทิศทางการค้าโลก ให้ SME “รู้ล่วงหน้า” แทนการ “ตั้งรับภายหลัง” เพราะในระบบเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ประเทศที่รวมพลังคนตัวเล็กได้ดี มักเป็นประเทศที่ต่อรองได้ดีที่สุด ฉะนั้นในโลกเขียนกติกาใหม่ทุกวัน SME ไทยต้องไม่หลุดจากสมการ
การปะทะกันของอภิมหาอำนาจ ไม่ใช่แค่เรื่องของศูนย์กลางการค้าเปลี่ยนมือ แต่คือเรื่องของแรงสั่นสะเทือนที่ไปถึงปลายน้ำของระบบเศรษฐกิจในทุกประเทศ ประเทศไทยจึงไม่ควรใช้เวลาเพียงแค่ “ประคอง SME ให้อยู่รอด” แต่ต้องคิดให้ไกลกว่านั้นว่า SME จะอยู่ในเกมเศรษฐกิจโลกใน “สถานะที่สูงกว่าเดิม” ได้อย่างไร
รัฐบาลปัจจุบันมีต้นทุนทางสังคมสูง มีแรงสนับสนุน และมีเจตนารมณ์ชัดเจน หากสามารถ เปลี่ยนจากนโยบายเชิง “ขยายโอกาส” ไปสู่การ “ออกแบบพลังต่อรอง” ให้ SME เราจะไม่เพียงแค่ช่วยคนตัวเล็กให้อยู่ได้ แต่จะเปลี่ยน SME ให้เป็น “ตัวเร่ง” ในการพลิกสถานะของไทยในระเบียบโลกใหม่
เวลานี้ โลกไม่ได้รอคนที่ตามไม่ทัน แต่โลกมักให้รางวัลกับคนที่ “ตั้งเกมได้ก่อน”
ผศ.ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์
ผู้อำนวยการหลักสูตร DNA by SPU
และอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ ม.ศรีปทุม