ดื่มสุราเถื่อน ป่วยหนัก ตาบอด เสียชีวิต สู่คำถามถึง “นโยบายสุราเสรี” ที่ยังไม่มีมาตรการสร้างความมั่นใจ ว่าผู้บริโภคจะสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร คอลัมนิสต์ The Structure
จากกรณีที่มีผู้ป่วยจากการดื่มสุราปลอม 28 ราย และเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ พบว่า มีอาการหนัก ทั้งต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 13 ราย ต้องฟอกไต 18 ราย และต้องปั๊มหัวใจ 6 ราย ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา พบว่า มีอาการแบ่งเป็น ภาวะเลือดเป็นกรด 21 ราย หายใจเหนื่อย 19 ราย ภาวะไตวาย 16 ราย ตาพร่ามัว 14 ราย ชัก 4 ราย และหมดสติ 4 ราย [1]
ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยในครั้งนี้นั้น ต่างเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการดื่มยาดอง จากซุ้มยาดองในบริเวณเขตคลองสามวา เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวม และสรรพสามิต สืบสวนจนพบแหล่งผลิตน้ำสุราที่เป็นต้นตอของอาการป่วย และพบว่าในสุราดังกล่าวมีส่วนผสมของเมทานอล และสารไอโซไพรพิล แอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol : IPA) ซึ่งเป็นสารอันตรายหากสิ่งมีชีวิตบริโภคเข้าไป
และพบว่าแหล่งผลิตดังกล่าว กระจายสุราปนเปื้อนที่ผลิตได้ไปยังซุ้มยาดองในเขตสะพานสูงอีก 18 แห่งอีกด้วย
— แอลกอฮอล์ ไม่ได้ดื่มได้ทุกชนิด —
สุรา ของมึนเมาทุกชนิด ล้วนแต่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งออกฤทธิ์ให้ผู้เสพรู้สึกมึนเมา และนี่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า แอลกอฮอล์ทุกชนิดนั้นกินได้
แต่ในทางเคมีแล้ว แอลกอฮอล์หมายถึง สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ที่มีออกซิเจน และ ไฮโดรเจน เป็นองค์ประกอบ (หมู่ไฮดร๊อกซิล) และมีสารเคมีในกลุ่มนี้หลายสิบชนิด แต่มีเพียง “เอทานอล (Ethanol)” หรือ “เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol)” เท่านั้นที่สามารถบริโภคได้ โดยไม่มีอันตรายถึงชีวิต
ในตลาดการค้าวัตถุเคมี เอทิลแอลกอฮอล์ สามารถแบ่งออกได้อีก 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือแบบบริโภคได้ และแบบที่บริโภคไม่ได้ ซึ่งในแบบที่บริโภคไม่ได้นั้น จะมีส่วนผสมอื่นที่ถูกผสมอยู่ในนั้นด้วย และส่วนผสมเหล่านั้น จะเป็นพิษอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต หากถูกบริโภคลงไปในปริมาณที่สูงกว่ากำหนด
ในแอลกอฮอล์ทาแผลเองก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ที่มีการจัดจำหน่ายในท้องตลาดจะมีส่วนผสมหลักเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ แต่ก็จะมีข้อความกำกับว่า “ห้ามรับประทาน” เนื่องจากมีส่วนผสมอันตรายหากดื่มลงไปด้วยเช่นกัน
— พิษเหล้าเถื่อนในอดีต —
ในอดีต ตามชนบท มักจะมีการแอบต้มสุราเถื่อนอย่างผิดกฎหมาย และรัฐพยายามปราบปราม เนื่องจากในการต้มเหล้าเถื่อนนั้น มักจะมีการใช้ “ยาฆ่าหญ้า” เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนองค์ประกอบของสารตั้งต้นให้กลายเป็นเอทิลแอลกอฮอล์
และหากมีการปฎิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง สารอันตรายในยาฆ่าหญ้าเหล่านั้นจะสลายตัวไปตามกระบวนการทางเคมี แต่ผู้ต้มส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางเคมี จึงมักจะดื่มโดยที่สารพิษยังสลายตัวไปไม่หมด
บางรายตาบอดตลอดชีวิต หลายรายเสียชีวิต และนี่เป็นสาเหตุที่ภาครัฐในสมัยนั้น ต้องออกมาตรการควบคุม เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน
— คำถามถึงนโยบายสุราเสรี —
ในปี 2565 สภาผู้แทนราษฎร์ลงมติคว่ำ ร่าง พรบ. สุราก้าวหน้า แต่รัฐบาลในเวลานั้นปรับเปลี่ยนกฎกระทรวงว่าด้วยการผลิตสุรา โดยลดกำลังการผลิตที่ได้รับอนุญาตลง เปิดโอกาสให้มีผู้ผลิตในตลาดสุราเพิ่มมากขึ้น ในระดับที่ภาครัฐสามารถเข้าไปควบคุมตรวจสอบได้
ในขณะที่พรรคก้าวไกล พยายามที่จะผลักดัน พรบ. ภาษีสรรพสามิต หรือ พรบ. สุราก้าวหน้า โดยให้ไม่มีการกำหนด และกีดกันการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทำให้ธุรกิจสามารถผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างเสรีนั้น ย่อมถูกตั้งคำถามถึง “ความปลอดภัยในการบริโภคแอลกอฮอล์” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้การเปิดเสรีทางธุรกิจ ย่อมหมายถึงการเพิ่มจำนวนผู้ผลิต ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจได้ก็จริง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคม ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และพรรคก้าวไกล ที่ในวันนี้เปลี่ยนเป็นพรรคประชาชน ก็ยังไม่มีคำตอบให้กับสังคมว่า จะสามารถควบคุมมาตรฐานการผลิตสุราของผู้ประกอบการที่จะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จากนโยบายสุราเสรีนี้ได้อย่างไร ?
กระบวนการผลิตสุรา มิใช่กระบวนการที่ปลอดภัย 100% เหมือนในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน ที่ยังไม่มีการคิดค้นสารเร่งปฎิกิริยาในกระบวนการผลิตสุรา และท่ามกลางการแข่งขันโดยเสรี ย่อมหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสมัยใหม่เพื่อการลดต้นทุนไม่ได้
หากพรรคประชาชนยังมีแนวนโยบายที่จะผลักดันนโยบายสุราเสรีต่อ พรรคประชาชนจะมีแนวทางที่จะให้การรับรองต่อประชาชนได้อย่างไร ในการควบคุมมาตรฐานการผลิตสุราของผู้ประกอบการเหล่านั้น ให้มีความปลอดภัยในการบริโภค สามารถดื่มได้อย่างมั่นใจ
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร: คอลัมนิสต์ The Structure
อ้างอิง
[1] https://www.facebook.com/share/p/6DcCxLfmbunx8NUH/
[2] https://www.facebook.com/ExciseDepartment/posts/pfbid0E7jfZioqysCWmBDNo1du58NkYRpJYzAXMWgCJCbccVdvFk4T7CmqebxdSEhvyhk3l?rdid=GHTOgtsE7QKPtv5a
[3] https://www.bbc.com/thai/articles/c97j3pd38y7o
[4] https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=290
[5] https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20230911100402_1_290.pdf