
หริรักษ์ โต้ เศรษฐา “ไม่ว่ารัฐบาลไหน ก็ไม่อยากเห็นนายกต้องเดินทางไปขายของด้วยตนเอง” แนะ ‘ก้าวไกล’ เลิกหมกมุ่น ม.112 แล้วมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพคนดีกว่า
หริรักษ์แนะ ‘ก้าวไกล’ เลิกหมกมุ่น ม.112
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2566 ระบุว่า หลังจากที่เปิดตัวเข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการ ประเด็นที่คุณเศรษฐา ทวีสิน วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้อย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าพูดในทุกโอกาส ก็คือ นายกรัฐมนตรีจะต้องออกไปเจรจาค้าขายกับประเทศต่างๆ ด้วยตัวเอง แต่ไม่เคยทำ สร้างความผิดหวังต่อภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก
ประเด็นนี้ ผมเห็นต่างจากคุณเศรษฐา ผมไม่ต้องการเห็นรัฐบาลไหนของประเทศไทย ที่นายกรัฐมนตรีต้องเดินทางไปเจรจาค้าขายกับนานาประเทศ เพื่อขอให้เขาซื้อสินค้าของเรา เพราะนั่นแสดงว่าสินค้าของเราไม่เป็นที่ต้องการของต่างชาติ หรือสินค้าเรามีคุณภาพไม่ดีพอ ทำให้รัฐบาลต้องไปขอร้องให้ประเทศอื่นๆ มาซื้อสินค้าของเรา เพราะนั่นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
เขาอาจเกรงใจยอมซื้อสินค้าของเราบ้างพอเป็นพิธี แต่หากสินค้าของเราไม่ตรงกับความต้องการของเขา หรือมีคุณภาพไม่ดีพอ หลังจากนั้นเขาก็จะไม่ซื้ออีก ทำให้ต้องเดินทางไปเจรจาอีกเพื่อขอให้เขาซื้อ เป็นเช่นนี้ไม่จบไม่สิ้น สิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลควรทำคือ พัฒนาและแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน นั่นคือวางรากฐานทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของคนให้สูงขึ้น
แต่ที่ผ่านมา เราเห็นรัฐบาลแต่ละรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยมาตรการระยะสั้นกันทั้งนั้น เช่น อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ พักหนี้เกษตรกร แจกเงินคนจน ให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รับจำนำข้าว ประกันราคาข้าวและพืชผลทางการเกษตร ฯลฯ และหากมองการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆในขณะนี้ก็ล้วนแล้วแต่ ลด แลกแจกแถม ประชานิยม อันจะเป็นภาระทางการเงินของประเทศในอนาคตด้วยกันทั้งสิ้น
การพัฒนาขีดความสามารถของคนที่กล่าวถึง ไม่ได้หมายถึงเพียงการพัฒนาการศึกษาซึ่งก็ต้องทำเท่านั้น แต่หมายถึงการพัฒนาขีดความสามารถของคนแบบตรงจุด นั่นหมายความว่าพัฒนาคนให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ ของประเทศ ตัวอย่างเช่น แม้ประเทศเราจะเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ผลผลิตต่อไร่หรือ yield ของการผลิตข้าวของเรากลับต่ำกว่าคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เวียดนามและอินเดียเป็นอย่างมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวของเราสูงกว่าคู่แข่ง นั่นหมายถึงความเสียเปรียบในการแข่งขัน ไม่ใช่ความได้เปรียบในการแข่งขัน หรือ competitive advantage ที่จะทำให้เราเอาชนะคู่แข่งได้
ทำไมที่ผ่านมาและในปัจจุบัน ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่หาเสียงด้วยการสัญญาว่า จะทำให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาสูงขึ้น เป้าหมายคือเป็นที่หนึ่งของโลก ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของชาวนา ด้วยการให้การอบรมให้ความรู้ ทั้งด้านพันธุ์ข้าว วิธีการปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง ให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยี และให้เงินกู้ไม่มีดอกเบี้ยเพื่อให้ชาวนาสามารถลงทุนซื้อเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆได้ การทำเช่นนี้ต้องจัดทีมผู้เชี่ยวชาญ ออกไปช่วยชาวนาทั่วประเทศ ไม่ใช่พึ่งแค่เกษตรอำเภอหรือเกษตรจังหวัดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นี่ไม่ใช่เป็นการขายฝัน แต่เป็นสิ่งที่ควรทำและต้องทำให้ได้ แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดคิดจะทำเลยแม้แต่พรรคเดียว นั่นแสดงให้เห็นว่า ระบบการเมืองของเรายังใช้ไม่ได้หรือคนของเรายังใช้ไม่ได้ หรือใช้ไม่ได้ทั้งระบบทั้งคน ใช่หรือไม่ว่า เรามักจะถามตัวเองก่อนเสมอว่า หากเลือกคนนี้หรือพรรคนี้แล้วเราจะได้อะไร พรรคการเมืองต่างๆ จึงต้องหาเสียงด้วยการแจกของ แจกเงิน ขายฝัน สัญญาจะให้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ กับคนแต่ละกลุ่ม แทนที่จะวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่ประเทศในระยะยาว
อยากบอกพรรคก้าวไกลว่า หากต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีจริง อย่าได้หมกมุ่นอยู่กับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วหันมาสร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าที่ยังไร้ระเบียบวินัยให้มีระเบียบวินัย ให้รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ให้นึกเสมอว่าสิ่งที่ตัวเองกระทำจะไปกระทบหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนหรือไม่อย่างไร และมุ่งพัฒนาคนแบบตรงจุดอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นดีกว่า แล้วพรรคก้าวไกลจะได้คะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ที่ยังเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ ยังมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ชอบพรรคก้าวไกล แต่ติดตรงทัศนคติของพรรคที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น
อย่าลืมว่า เป้าหมายของพรรคเพื่อไทยขณะนี้คือ 310 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร แล้วคะแนนเสียงที่ต้องการเพิ่มขึ้นจะไปแย่งมาจากที่ไหน นอกจากจากฝ่ายเดียวกันเอง