
อุตสาหกรรม ‘โลกเก่า’ นักท่องเที่ยวไม่เหมือนเดิม ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัว ในมุมมองของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
หลายคนคงตั้งข้อสงสัยว่า ผ่านโควิด-19 มานานพอสมควรแล้ว แต่ทำไมเศรษฐกิจไทยกลับไม่ฟื้นเหมือนเช่นเดิม ในประเด็นนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจในงานเสวนา TDRI EIS Dinner Briefing เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 67 โดยมีใจความดังต่อไปนี้
“ถ้าคุณมองภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าสภาพการของประเทศไทยได้กลับมาอยู่ที่เดิมในก่อนช่วงโควิด-19 แล้ว
แม้ว่า GDP จะกลับมาเท่าเดิมกับก่อนหน้านี้ รวมถึงงานภาคบริการ ดัชนีการจ้างงานและรายได้ ที่ถือว่าได้ฟื้นกลับมาแล้ว แต่ก็มีบางภาคส่วนที่ไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งก็คือ อุตสาหกรรมการผลิต และการท่องเที่ยว ที่ยังคงไม่ฟื้นตัวกลับมาเหมือนแต่ก่อน เพราะก่อนหน้านี้เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศถึง 40 ล้านคนต่อปี และปีที่แล้วเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียงแค่ 20.2 ล้านคนเท่านั้น
สิ่งที่เราเห็นในตอนนี้คือ ‘แรงหนุนตามวัฏจักร’ (cyclical tailwind) ที่เราคาดหวังว่าจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของเรา กลับอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ ขณะเดียวกันเราคงต้องกลับมามองว่า ‘แรงต้านเชิงโครงสร้าง’ (structural headwind) นั้นรุนแรงกว่าที่เราคาดไว้
เริ่มจากแรงหนุนตามวัฏจักร สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะช่วยเศรษฐกิจของไทย ก็คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เราเห็นประเทศต่างๆ ที่ได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งเกาหลี ไต้หวัน และเวียดนาม แต่ไม่ใช่กับประเทศไทย
มันเหมือนกับว่าพวกเราไม่ได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เท่ากับอีกหลายประเทศ และมันอาจจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกเรื่อยๆ และนั่นคือปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ พวกเรามัวแต่สนใจในสิ่งที่ไม่ได้เป็น ‘แถวหน้า’ ของอุตสาหกรรมอีกต่อไป
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเราเป็นของที่มาจาก ‘โลกเก่า’ ในขณะที่ตอนนี้เทคโนโลยีทุกอย่างเกี่ยวข้องกับ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (AI) และเราไม่ได้ไปยืนอยู่ในจุดที่เราจะได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมดังกล่าวเลย
อีกด้าน แรงหนุนตามวัฎจักรที่อ่อนลง ก็คือการที่แม้นักท่องเที่ยวจะกลับมาเยอะประมาณหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ตัวเลขการใช้จ่ายยังไม่กลับมา นักท่องเที่ยวกลับมาแล้วก็จริง แต่ยอดการใช้จ่ายกลับลดลง
และนั่นคือหลายๆ ปัจจัยที่ประกอบกันเข้ามาทำให้เรามาอยู่ ณ จุดนี้
เวลาที่ผมหารือกับธนาคารกลางของประเทศต่างๆ พวกเราเองก็มองเห็นเหตุการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นกับประเทศของพวกเรา คือ นักท่องเที่ยวไม่ได้ใช้จ่ายมากเหมือนแต่ก่อนแล้ว ทุกคนระมัดระวังกับการจับจ่ายใช้สอยเป็นอย่างมาก
เหตุผลอีกประการก็คือ นักท่องเที่ยวชาวจีนยังไม่กลับมา ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาประเทศไทยเพียง 3.5 ล้านคน ในขณะที่ก่อนโควิดเรามีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาถึง 11 ล้านคน
สิ่งนี้อาจจะเป็นเหมือนเหตุการณ์ชั่วครั้งคราว แต่ผมกังวลว่ามันจะกลายเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างในระยะยาว คือ รัฐบาลจีนกำลังพยายามสร้างแรงกระตุ้นให้คนจีนเที่ยวภายในประเทศของตน ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเหตุที่ทำให้เราไม่ได้เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับไปแตะที่ 40 ล้านคนอีกนานพอสมควร
ตัวเลขนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนเคยเป็นจุดสูงสุดที่เราทำได้ และพวกเราคิดว่ามันคือสภาพการณ์ปกติที่เราควรจะต้องกลับไปอยู่ในจุดนั้นให้ได้…แต่พวกเราจะไม่กลับไปอยู่ในจุดนั้นอีกระยะหนึ่ง หรืออาจจะในระยะยาวด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว
สิ่งต่างๆ กำลังแปรเปลี่ยนไป ปัจจัยเชิงโครงสร้างกำลังเปลี่ยนไป ในขณะที่เรากำลังพูดกันถึงการสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนไปแล้ว
พวกเรามีจุดแข็งในเรื่องของการท่องเที่ยว พวกเรามีโรงแรมที่น่าพักอาศัยมาก ๆ แต่พวกเราก็มีคู่แข่งที่รออยู่ด้านนอกมากมายเช่นกัน หากคุณไปดูดัชนีการท่องเที่ยว จะพบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ดีมาก แต่พวกเราอยู่ที่เดิมตลอด ในขณะที่เวียดนาม และ อินโดนีเซีย กำลังขยับไล่ตามขึ้นมา พวกเขากำลังก้าวขึ้นมาท้าทายพวกเรา และนักท่องเที่ยวเองก็มีตัวเลือกมากขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้น ผมคิดว่าปัจจัยเชิงโครงสร้างกำลังเป็นตัวฉุดรั้งผลประโยชน์ที่พวกเรากำลังจะได้รับจากการฟื้นตัวในเวลานี้”