
ที่มาของปลาเทราต์ โครงการหลวงดอยอินทนนท์ เมื่ออธิบดีกรมประมงทูลเกล้าถวายคำแนะนำให้เพาะเลี้ยง ปลาน้ำหนาว ที่มีมูลค่าสูงถึงกิโลละ 1,000 บาท
โครงการหลวงอินทนนท์ หรือสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2522 ในเขตของหมู่บ้านขุนกลาง หมู่ที่ 7 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่หุบเขาชัน สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,300 เมตร
โดยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือชาวเขาในพื้นที่ ให้มีแหล่งทำกินที่เป็นหลักแหล่ง ลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าจากการทำไร่เลื่อนลอย และมีผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูง สร้างรายได้ เพื่อให้ชาวบ้านเลิกการปลูกฝิ่น
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรกรรมในโครงการหลวงอินทนนท์จนมีผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูงที่หลากหลาย ทั้งดอกไม้และผลไม้เมืองหนาวหลายชนิด เช่นดอกหน้าวัว, เยอร์บีร่า, นาร์ซิสซัส, ลินิน, สตรอเบอร์รี่, พลัม และอโวคาโด เป็นต้น
สำหรับปลาเรนโบว์เทราท์ นั้นถือเป็นอีกหนึ่งผลผลิตของโครงการฯ ที่มีชื่อเสียง เนื่องจากเป็นการเพาะเลี้ยงปลาน้ำเย็น ที่ต้องมีอุณหภูมิไม่เกิน 24 องศาเซลเซียส อีกทั้งน้ำที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงนั้น จะต้องเป็นน้ำที่ใสสะอาด ปราศจากสารเคมีและยาฆ่าแมลงเจือปน ถือเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน
โดยเมื่อปี 2516 อธิบดีกรมประมงได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และถวายคำแนะนำให้มีการเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์” ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่อเมริกา แถบอลาสก้า ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับพื้นที่ดอยอินทนนท์ จึงทำให้ได้เริ่มทดลองนำมาเพาะเลี้ยงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ความยากของการเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ คือ จะต้องเพาะเลี้ยงในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 24 องศา ตลอดทั้งปี เนื่องจากหากอุณหภูมิสูงกว่านี้แม้เพียงนิดเดียว จะทำให้ปลาไม่กินอาหาร อีกทั้งจะต้องเพาะเลี้ยงในน้ำที่มีการไหลตลอดเวลา เลี้ยงในบ่อที่มีน้ำนิ่งไม่ได้ ถือได้ว่าเป็นปลาที่มีความยากในการเพาะเลี้ยงสูง จึงมีสนนราคาสูง โดยราคาขายในท้องตลาดตกราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท
ปลาเรนโบว์ เทราต์ เป็นปลาเนื้อสีขาว อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาแซลมอน แต่มีเนื้อนุ่มเด่นกว่ามีกรดไขมันไม่อิ่มตัวและโอเมกา 3 สูง ถือเป็นหนึ่งในเมนูที่ได้รับความนิยมในโรงแรมและภัตตาคารใหญ่ ๆ และมีราคาแพง ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่ดีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างดี