
เมื่อครั้งไทยใช้ไม้แข็ง ทุบต่างชาติ รุกล้ำอธิปไตย ย้อนอดีตเหตุการณ์ ‘ก็อดส์ อาร์มี่’ บุกยึด รพ. ราชบุรี จับคนไทยนับพันเป็นตัวประกัน เมื่อ 25 ปีที่แล้ว
ช่วงเช้าของวันที่ 24 ม.ค. 2543 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศตื่นตะลึง เมื่อกองกำลัง “ก็อดส์ อาร์มี่” กลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาวกะเหรี่ยง ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา จำนวน 10 คน บุกเข้ายึดโรงพยาบาลราชบุรี จับแพทย์ พยาบาล และคนไข้ในโรงพยาบาลกว่า 1 พันคนเป็นตัวประกัน
กองกำลังก็อดส์ อาร์มี่ เป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 2540 ท่ามกลางความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์, ศาสนา และการเมืองในเมียนมาร์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ที่เมียนมาร์ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491
และกลายเป็นความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังนับตั้งแต่ที่นายพลเนวิ่น ก่อการรัฐประหารในปี 2505 และยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านตลอดมา
ก่อนที่กลุ่มก็อดส์อาร์มี่จะบุกเข้ายึด รพ. ราชบุรี กองกำลังกลุ่มนี้เคยก่อเหตุ ส่งกองกำลังติดอาวุธบุกเข้าไปในสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทร จับเจ้าหน้าที่สถานทูตและประชาชนที่เข้าไปติดต่อราชการเป็นตัวประกัน ไว้ได้ราว 89 คน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2542
เหตุการณ์ในครั้งนั้น รัฐบาลของชวน หลีกภัย เลือกใช้วิธีการเจรจาอย่างประนีประนอม ส่ง พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รมว. มหาดไทย เข้ามากำกับดูแลสถานการณ์ และรัฐบาลไทยยอมรับข้อเสนอของก็อดส์ อาร์มี่ ปล่อยให้กองกำลังติดอาวุธกลับเมียนมา
อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับชายแดนไทย-เมียนมา ผ่านทางจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้กับที่ตั้งของกองกำลังกลุ่มนี้ ด้วยเฮลิคอปเตอร์ อีกทั้งยังให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมช. ต่างประเทศเดินทางไปด้วยในฐานะตัวประกัน เพื่อการรับรองความปลอดภัยของกองกำลังกลุ่มนี้
เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชื่อของก็อดส์อาร์มี่เป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศเป็นครั้งแรก ผ่านการรายงานของสื่อมวลชน อีกทั้งยังมีข้อวิจารณ์ว่า รัฐบาลไทยอ่อนข้อให้กับกองกำลังต่างชาติที่เข้ามาก่อการในประเทศไทยมากเกินไปหรือไม่ ? แล้วประเทศไทยมีความปลอดภัยมากเพียงพอหรือไม่ ? เหตุใดกองกำลังต่างชาติถึงพกอาวุธสงครามเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้ ?
และคำถามเหล่านี้ ได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง จากการบุกยึดโรงพยาบาลราชบุรีในปี 2543 ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่คนไทยทั้งประเทศ “ยอมรับไม่ได้” กับการกระทำที่อุกอาจราวกับว่าคนไทยนั้นเป็นเพียงแค่ “หมูในอวย” และการกระทำครั้งนี้นั้น ถือเป็นการล่วงละเมิดอธิปไตยของไทยอย่างชัดเจน และเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย
ครั้งนี้ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้ พล.อ. สุรยุทธ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก เข้ามากำกับดูแล “ภารกิจชิงตัวประกัน” โดยมีความมุ่งหมายที่จะออกปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ และตัวประกันจะต้องสูญเสียให้น้อยที่สุด
ฝ่ายก็อดส์อาร์มี่ ยังคงตั้งข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในลักษณะเดิม คือเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการให้การสนับสนุนกองทัพเมียนมาร์ในการกวาดล้างกองกำลังต่อต้านรัฐบาลเมียนมา ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว รัฐบาลไทยเพียงกดดันไม่ให้กองกำลังต่างชาติรุกล้ำข้ามเขตแดนไทยเข้ามาเท่านั้น และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดเฮลิคอปเตอร์นำพากลุ่มผู้ก่อการกลับบ้านเช่นเดิม
ฝ่ายไทย ได้วางกองกำลังผสมทหารตำรวจ พลร่มป่าหวายจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ หน่วยนเรศวร 261 ของ ตชด. และหน่วยคอมมานโด จากกองปราบฯ เกือบ 100 คน ล้อมรอบพื้นที่ไว้ อีกทั้งยังมีการส่งหน่วยแทรกซึม เข้าไปในโรงพยาบาล ผ่านการปลอมตัวเป็นผู้ส่งน้ำและอาหารไปให้ตัวประกันนับพัน
ระหว่างนั้น มีการเจรจากันระหว่างไทยและผู้ก่อการ ทำให้มีการทยอยปล่อยตัวประกันออกมาเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ช่วงเวลา 8 นาฬิกา ไปจนถึงเวลาตี 1 ของวันถัดมา (25 ม.ค. 2543) จนถึงช่วงเวลาตี 1 – 2 ที่ฝ่ายไทยตัดสินใจใช้กำลังขั้นเด็ดขาด
เนื่องจากว่าตัวประกันส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้ป่วย ทำให้เกิดข้อกังวลถึงสวัสดิภาพของตัวประกันที่เป็นผู้ป่วย ที่ไม่อาจได้รับการรักษาจากแพทย์ได้อย่างเต็มที่
พล.อ. สุรยุทธ์ ได้ให้เหตุผลถึงการใช้ความรุนแรงขั้นเด็ดขาดในครั้งนี้ว่า
“ช่วงที่ตัดสินใจว่าให้ใช้กำลังก็ประมาณตี 1-ตี 2 ที่คิดว่าต้องใช้กำลังเพราะว่า หนึ่ง เราต่อรองกันมานานแล้ว และทั้งหมดก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะอ่อนข้อลงมาเลย
ประการที่สอง ถ้าหากรอให้ถึงเช้าวันรุ่งขึ้นการใช้กำลังเข้าไปจู่โจมก็จะทำไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้คนที่บาดเจ็บ หมอ พยาบาล ก็ผ่านเหตุการณ์มา 24 ช.ม.แล้ว เขาจะเป็นยังไง ผอ.ร.พ. ที่อยู่ด้วยกันในตอนนั้น ก็ยังบอกว่า ช่วยเถอะ…ช่วยทำเถอะ เพราะคนที่ตกเป็นตัวประกันนั้น แย่หมดแล้ว”
ทหารตำรวจ เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มก็อดส์ อาร์มี่ ตั้งแต่เวลาตี 2 ของวันที่ 25 ม.ค. 2543 จนกระทั่งเวลาตี 5 สามารถสังหารกลุ่มผู้ก่อการได้ทั้งหมด 10 ชีวิต โดยไม่มีตัวประกันรายใดเสียชีวิต
ผลการใช้กำลังอย่างเด็ดขาดของรัฐบาลไทยในเวลานั้น ได้สร้างความตื่นตะลึงไปยังกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาตามแนวชายแดนไทย ว่าถ้าหากรัฐบาลไทยเอาจริง แม้กองกำลังที่ขึ้นชื่อว่าหนังเหนียวอย่างก็อดส์ อาร์มี่ ก็ไม่อาจต้านทานอำนาจการโจมตีของกองทัพไทยได้
หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น กองทัพเมียนมา ดำเนินการกดดันต่อกองกำลังก็อดส์ อาร์มี่เพิ่มขึ้น ในขณะที่กองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มอื่น ๆ ทอดทิ้งให้ก็อดส์ อาร์มี่ถูกโดดเดี่ยว เนื่องจากเกรงกลัวว่าจะมีปัญหากับกองทัพไทย
จนในปีถัดมา เดือน ม.ค. 2544 ผู้นำกองกำลังก็อดส์ อาร์มี่ เข้ามอบตัวต่อทางการไทย และขอลี้ภัยเข้ามาอาศัยในประเทศไทย ซึ่งทางการไทยก็ตอบรับด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม