
ขั้วอำนาจใหม่? ท่ามกลางสงครามการค้า ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้ ‘เยอรมนี’ เพิ่มงบประมาณทางทหารครั้งใหญ่ ที่อาจจะทำลายสมดุลความมั่นคงในยุโรปได้ในอนาคต
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงกล่าวถึงมาตรการการเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐว่า ได้สร้างความแปรปรวนขึ้นในระบบการค้าโลก และอาจส่งผลกระทบระยะยาวหากกติกาการค้าเสรีไม่กลับมา
อย่างไรก็ดี ขนาดทางเศรษฐกิจของสหรัฐนั้น มีน้หนักประมาณ 25% ของโลก แต่ในขณะนี้อีก 75% ของโลกกำลังล้อมเข้ามาถ่วงดุลและเจรจากับสหรัฐ
ซึ่งถ้าหากว่าหากหลายมหาอำนาจสามารถพูดคุยกันได้ ก็จะกดดันสหรัฐได้ ซึ่งในเวลานี้มีความเป็นไปได้ที่จีนและอินเดีย จะมารวมตัวกับกลุ่มสหภาพยุโรป และอาจจะรวมถึงอาเซียนด้วย ซึ่งถ้าสามารถทำได้ ก็อาจจะสามารถที่จะถ่วงดุลและเปิดการเจรจาได้อย่างมีน้ำหนักและจริงจัง แต่ทั้งหมดเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจนในเวลานี้
สำหรับในประเทศกลุ่มอาเซียนนั้น ในเวลานี้ผู้นำชาติอาเซียนยังไม่มีการสร้างข้อตกลงร่วมกันอย่างจริงจัง ในขณะที่สหภาพยุโรปมีการรวมตัวกันในเบื้องต้นไปแล้ว
แต่ทั้งนี้ หลายประเทศคงต้องเลือกรูปแบบ หรือวิธีการในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐให้ชัดเจนว่าจะเผชิญหน้าโดยตรง จะรอเวลาต่อรอง หรือจะไปรวมกลุ่มกัน
อย่างไรก็ดี รูปแบบสุดท้ายที่หลายฝ่ายเป็นกังวลกันก็คือการเผชิญหน้า ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะบานปลายจากสงครามการค้าไปสู่สงครามที่มีการใช้กำลังทหาร อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ 1)
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังคงเป็นความหวังก็คือการที่สหรัฐเองก็ไม่ได้ต้องการที่จะสร้างสงครามจริง ๆ ขึ้นมา แต่ต้องการให้เกิดการเจรจา เพื่อให้สหรัฐกลับมาเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make American Great Again)
สำหรับปัญหาด้านความมั่นคงในกลุ่มประเทศพันธมิตรของสหรัฐนั้น ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว โดยเยอรมนีได้ประกาศพัฒนาความสามารถทางการทหารครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยจะมีการเพิ่มงบประมาณมากกว่าที่เคยจ่ายอยู่ 1 – 2 เท่าตัว
ซึ่งจะทำให้เยอรมนีมีศักยภาพใหม่ ผู้นำใหม่ และขั้วอำนาจใหม่ และในที่สุดแล้วก็จะมีการเผชิญหน้ากันในยุโรป ของหลายขั้วอารมณ์ ทั้งกับรัสเซีย หรือว่าอาจจะเผชิญหน้ากับสหรัฐ ซึ่งสหรัฐเองก็ไม่ต้องการ ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องจับตาดูกันให้ดี ๆ ว่าจะบานปลายไปจนถึงนั้นหรือไม่ แต่มันก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ หลายประเทศก็เริ่มเพิ่มศักยภาพ เริ่มพูดคุยกัน เช่นแคนาดาก็หันไปจับมือกับสหภาพยุโรป แทนที่จะจับมือกับสหรัฐ ในช่วงที่มีรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่หลายฝ่ายก็ยังไม่แน่ใจว่าจะจบอย่างไร