
เศรษฐกิจถดถอย เยอรมนีเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ หลังเงินเฟ้อพุ่งจากปัญหาสงครามยูเครน
เศรษฐกิจเยอรมนีเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ หลังเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งเยอรมนี (FSO) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปหดตัว 0.3% ในไตรมาสแรกของปี 2566 ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ในปี 2565 ที่หดตัวไป 0.5% ทั้งนี้ คำจำกัดความทางเทคนิคของ ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’ คือ การการที่ GDP หดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน
ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมัน (ifo) แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแออย่างต่อเนื่องของภาค
ธุรกิจ โดยดัชนี ifo ประจำเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบครึ่งปี
สำนักงานสถิติแห่งเยอรมนี ระบุว่า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการก่อสร้างเติบโตในช่วงต้นปี แต่การบริโภคภาคครัวเรือนที่ลดลงจากภาวะเงินเฟ้อเป็นตัวฉุด GDP
โดยการบริโภคภาคครัวเรือนลดลง 1.2% ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของภาครัฐก็ลดลงถึง 4.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
สำนักงานสถิติแห่งเยอรมนี อธิบายว่าสงครามในยูเครนส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน ในขณะที่ภาคครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย นอกจากนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยในการลดอัตราเงินเฟ้อยูโรโซน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 7%
คาร์สเทน เบรสกี (Carsten Brzeski) หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์มหภาคระดับโลกของสถาบันการเงิน ING กล่าวว่า “สภาพอากาศในฤดูหนาวที่อบอุ่น การฟื้นตัวของกิจกรรมภาคการผลิต ซึ่งได้รับอานิสงค์จากการเปิดประเทศอีกครั้งของจีนและการผ่อนคลายของปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ไม่เพียงพอที่จะพาเศรษฐกิจเยอรมนีหลุดพ้นจากโซนอันตรายของภาวะเศรษฐกิจถดถอย”
อย่างไรก็ตาม ธนาคารสหพันธ์เยอรมนี (Bundesbank) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเยอรมนีในไตรมาส 2 จะเติบโตในระดับปานกลาง จากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะชดเชยการบริโภคในครัวเรือนที่ซบเซาและการก่อสร้างที่หดตัวลง
ขณะที่ โอลัฟ ช็อลทซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ให้ความเห็นในภาพรวมเศรษฐกิจว่ามีแนวโน้มที่ดีมาก โดยเน้นย้ำถึงความพยายามของรัฐบาลในการขยายการฐานผลิตพลังงานหมุนเวียนและการดึงดูดแรงงานต่างชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังอ้างถึงตัวเลขการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรี่ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ