โปรตีนทางเลือก กำลังเสื่อมความนิยมในญี่ปุ่น ‘พาณิชย์’ ชี้กระแสนิยมอาหารออแกนิกในญี่ปุ่น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
สำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ (สคต.) เผยแพร่รายงานเรื่อง “แนวโน้มอาหารแห่งอนาคตในตลาดญี่ปุ่น” โดยมีเนื้อหาว่า
ตลาดอาหารออร์แกนิกในญี่ปุ่นแสดงสัญญาณของการขยายตัว บริษัท Bio c’ Bon Japan เป็นบริษัทสาขาในญี่ปุ่นของ Bio c’ Bon จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้เปิดดำเนินการในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2559 โดยกลุ่มบริษัทอิออน และได้นำเสนอสินค้าในสโลแกน “ออร์แกนิกในชีวิตประจำวัน” เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น หลังจากช่วงโควิดยอดขายของบริษัทเติบโตขึ้น และในปี 2566 บริษัทสามารถเพิ่มยอดขายได้มากกว่า 10%
นอกจากนี้ Bio c’ Bon Japan พร้อมทั้งจัดหาสินค้าให้กับบริษัทย่อยของกลุ่มบริษัทอิออน โดยเฉพาะนมพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต นมข้าว ที่ไม่มีแลคโตส ซึ่งไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ และมีไขมันที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า นำเข้าไปขายในร้านค้ากว่า 1,000 สาขาในเครือบริษัทอิออนทั่วญี่ปุ่น เป็นการขยายกลุ่มผู้บริโภค
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงโควิดสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเกษตรอินทรีย์ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประธานบริษัท Bio c’ Bon Japan กล่าวว่า บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนของสินค้าที่เป็นออร์แกนิกให้มากขึ้นและมุ่งเน้นไปที่การขยายกลุ่มสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมองว่าในอนาคตสินค้าออร์แกนิกจะกลายเป็นสินค้ามาตรฐานในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
ในทางกลับกัน เทคโนโลยีอาหาร เช่น โปรตีนทางเลือก Alternative Protein หรือ Plant – Based Meat กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยการลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีอาหารในญี่ปุ่น อย่างเช่น เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงและโรงงานพืชในปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 610 พันล้านเยน ซึ่งลดลง 57% จากจุดสูงสุดในปี 2564
โดยเฉพาะการลงทุนในอาหารทางเลือก อาทิ โปรตีนจากพืชและเนื้อสัตว์การเพาะเลี้ยงลดลงถึง 67% ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญ คือ ความท้าทายในการแข่งขันในด้านรสชาติและราคา เมื่อเทียบกับอาหารปกติทำให้มีอุปสรรค ยากต่อการทำธุรกิจ
อีกทั้งกระบวนการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกใช้เวลานาน ร้านอาหารบางแห่งถึงขั้นยกเลิกการใช้วัตถุดิบที่ปรุงอาหารโปรตีนจากพืชเนื่องจากราคาต้นทุนสูงจากผลกระทบภาวะเงินเฟ้อ มีความเห็นจากผู้บริโภคว่า “ไม่อร่อย และมีความกังวลเกี่ยวกับสารเติมแต่งที่ใส่ลงไปในอาหารเพื่อให้รสชาติเหมือนของจริง”
ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาของอาหารชาวญี่ปุ่นกล่าวว่า “การศึกษาวิจัยและพัฒนาอาหารด้านโปรตีนทางเลือกนี้ใช้เวลานาน เนื่องจากต้องศึกษาเกี่ยวกับพืชและสิ่งมีชีวิต” จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเซลล์อาหาร ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการข้อกำหนดและจัดกฏระเบียบควบคุมที่เหมาะสม
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ปัจจุบันตลาดอาหารออร์แกนิกในญี่ปุ่นแสดงสัญญาณของการขยายตัวเพิ่มขึ้น มาจากกระแสความนิยมสินค้าที่เป็นออร์แกนิกให้มากขึ้นและยังมุ่งเน้นไปที่การขยายกลุ่มสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังมองว่าในอนาคตสินค้าออร์แกนิกจะกลายเป็นสินค้ามาตรฐานในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
จากข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปี 2565 พบว่า พืชผลทางการเกษตรของไทยที่มีศักยภาพเป็นวัตถุดิบในการผลิตโปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) โปรตีนจากแมลง (Insect-based Protein) ที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย คือ ถั่วเขียว ต้นอ่อนทานตะวัน งาดำ ข้าวกล้องหอมมะลิ และเห็ดฟาง
มูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกในไทยอยู่ที่ประมาณ 4,100 ล้านบาท เหตุผลที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมาจากกระแสรักสุขภาพ และอยากลอง โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน ต่อมาในปี 2567 พบว่าธุรกิจประเภทเทคโนโลยีอาหารเริ่มมีการชะลอตัว
ปัจจัยหลัก คือค่าครองชีพสูงกำลังซื้อลด การแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ผู้บริโภคมีความกังวลจากสารปรุงแต่งรสชาติ และราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับราคาเนื้อสัตว์ทั่วไป ทำให้กระแสความนิยมในบางประเทศลดลงไม่ได้รับการตอบรับตามที่คาดการณ์ จึงหันไปบริโภคอาหารออร์แกนิกเพิ่มมากขึ้น