
AI เป็นภัยคุกคามประชาธิปไตย ผู้เชี่ยวชาญชี้การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของ AI กำลังกลายมาเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย
การเติบโตอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง และอาจคุกคามการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI กล่าวในการประชุม Reuters NEXT ในนิวยอร์ก เมื่อวันพุธ (8 พ.ย.)
การแพร่กระจายของ generative AI ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เราสร้างสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนรู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับศักยภาพของ AI แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความกลัวว่าอาจทำให้งานบางอย่างล้าสมัย พลิกการเลือกตั้ง และอาจถึงขั้นเอาชนะมนุษย์ได้
“ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดคือภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย… ในปี 2567 จะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก และโอกาสที่เทคโนโลยี “ดีพเฟค” (Deepfake) ที่ฉลาดล้ำและถูกนำมาสร้างเนื้อหาภาพและเสียงที่เสมือนเรื่องจริงจนแยกไม่ออก จะไม่ถูกใช้แทรกแซงการเลือกตั้งนั้นแทบจะเป็นศูนย์” แกรี มาร์คัส ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยาและประสาทวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าว
บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังเตือนด้วยว่า การที่บริษัทต่างๆ เริ่มหันมาใช้ AI ในการตัดสินใจ รวมถึงเรื่องการกำหนดราคา อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลือกปฏิบัติ
มาร์ธา เทลลาโด ซีอีโอของ Consumer Reports ซึ่งเป็นองค์กรทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ใหญ่ที่สุดในโลก เผยผลการสอบสวนซึ่งพบว่า เจ้าของรถยนต์ที่อาศัยอยู่ในละแวกที่มีประชากรผิวสีหรือสีน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ และอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยของคนผิวขาว จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันรถยนต์ที่สูงขึ้น 30%
ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่งที่สมาชิกสภานิติบัญญัติและผู้นำด้านเทคโนโลยีต้องระวังคือ ความเป็นไปได้ที่ AI จะมีพลังมากจนกลายเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ แอนโทนี่ อากีร์เร่ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารของ Future of Life Institute กล่าว
Future of Life ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Musk Foundation ของอีลอน มัสก์ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้หยุดการพัฒนา AI ที่ล้ำหน้ากว่าซอฟต์แวร์ GPT-4 ของ OpenAI เป็นเวลา 6 เดือน โดยเตือนว่าห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ถูกขังอยู่ในการแข่งขันที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ทรงพลัง ซึ่งแม้แต่ผู้สร้างเองก็ไมสามารถที่จะเข้าใจ คาดการณ์ หรือควบคุมมันได้
“การพัฒนา AI ที่ทรงพลังยิ่งขึ้น ยังเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงาน และอาจมาถึงจุดที่มนุษย์ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้… เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น ผมเกรงว่าจะไม่ง่ายนักที่จะกลับไปใช้ AI ในฐานะเครื่องมือที่จะมาเติมเต็มและขยายขีดศักยภาพความสามารถของมนุษย์… เมื่อมาถึงจุดนั้น AI จะมาแทนที่มนุษย์” แอนโทนี่ อากีร์เร่ กล่าว