Newsฮ.สเป็กเทพก็ขึ้นบิน สภาพอากาศเลวร้ายไม่ได้ สาเหตุว่าทำไมเฮลิคอปเตอร์ของ ปภ. จึงไม่ขึ้นบินในทันที ในขณะที่เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศไปถึงก่อน ศิราวุธ ภุมมะกสิกร: คอลัมนิสต์ The Structure

ฮ.สเป็กเทพก็ขึ้นบิน สภาพอากาศเลวร้ายไม่ได้ สาเหตุว่าทำไมเฮลิคอปเตอร์ของ ปภ. จึงไม่ขึ้นบินในทันที ในขณะที่เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศไปถึงก่อน ศิราวุธ ภุมมะกสิกร: คอลัมนิสต์ The Structure

กลายเป็นประเด็นดราม่าข้ามคืน เมื่อผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้ตำหนิการทำงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  ว่าเหตุใดจึงไม่ส่งเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32A11BC (ฮ.ปภ.32) ขึ้นบินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย

 

แต่ถูกกระแสโซเชียลตีกลับ ตำหนิว่าในเมื่อสภาพอากาศไม่พร้อม ก็ไม่ควรจะให้นักบินทำการขึ้นบิน เนื่องจากอาจจะเกิดอันตรายได้ ซึ่งมีผู้ใช้บัญชีรายหนึ่ง ได้ออกมาคอมเมนต์เกี่ยวกับบิดา ซึ่งเป็นทหารที่เสียชีวิตในหน้าที่จากการนำเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินในสภาพอากาศที่ไม่พร้อมว่า

 

“เอาแบบพ่อผมก็ได้นะครับพี่ ขึ้นบินตอนสภาพอากาศแย่ๆ แล้วสุดท้ายก็เหลือแค่รูปไว้ดูต่างหน้าและชื่อไว้ให้พูดถึงครับ การประเมินสภาพอากาศเบื้องต้นสำคัญพอๆกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องรีบเร่งช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยครับผมเข้าใจ แต่ฝากไว้หน่อยครับพี่”

 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเฮลิคอปเตอร์แบบที่ 11 ยูโรคอปเตอร์ EC-725 ของกองทัพอากาศมาเปรียบเทียบกับ KA-32A ของ ปภ. ในภารกิจอีกด้วย

— สภาพอากาศ ส่งผลกระทบต่อการบินอย่างไร —

การบินของอากาศยานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอากาศยานปีกหมุน หรือเครื่องบินไอพ่น ล้วนแต่อาศัย “แรงยกปีก” ตาม “หลักการของเบอร์นูลีน์ (Bernoulli’s principle)” เป็นพื้นฐานทั้งสิ้น โดยอาศัยปีก หรือใบพัดที่มีส่วนโค้งด้านบนสร้างแรงยก เมื่อมีการเคลื่อนที่ผ่านอากาศ

อย่างไรก็ดี ในสภาวะที่อากาศมีความแปรปรวน (Turbulent – เทอร์บูแลนซ์)  จะทำให้แรงยกที่ถูกสร้างขึ้นจะไม่มีความเสถียร อีกทั้งยังอาจจะเกิดลมกรรโชก พัดให้อากาศยานเปลี่ยนทิศทางไปจากเดิม ทำให้ยากต่อการบังคับควบคุมทิศทาง หรือเลวร้ายที่สุด คือทำให้เครื่องสูญเสียการควบคุมจนร่วงตกได้

ในเครื่องบินพาณิชย์ มีบางกรณีที่กัปตันแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยในระหว่างทำการบิน เนื่องจากเกิดเทอร์บูแลนซ์ และในระหว่างนั้นเครื่องบินอาจจะเกิดการสั่นสะเทือน หรือในกรณีที่เครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์ในขณะนำเครื่องลงจอด ทั้งหมดนี้ล้วนแต่มีอิทธิพลของเทอร์บูแลนซ์เป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น

สภาวะความแปรปรวนในการเดินอากาศ เกิดขึ้นในสภาวะที่มีฝนตก หิมะตก และมีลมแรง ยิ่งถ้าเป็นสถานการณ์พายุเข้าด้วยแล้ว ระดับของความแปรปรวนก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย ถึงแม้ว่าในสภาวะที่มีลมฝนกรรโชก เครื่องบินแบบมีปีกจะมีโอกาสรอดสูงกว่าอากาศยานปีกหมุน แต่โดยทั่วไปแล้ว เครื่องบินที่อยู่บนน่านฟ้าจะถูกสั่งห้ามไม่ให้ลงจอดในสภาวะที่ไม่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัย

 

นอกจากนี้ ในสภาวะที่อากาศแปรปรวนสูงนั้น ท้องฟ้าจะเต็มไปด้วยปะจุไฟฟ้าเป็นจำนวนมา (ที่มาของการเกิดฟ้าผ่า) ที่อาจรบกวนการทำงานของระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอากาศยาน ที่อาจจะส่งผลให้อุปกรณ์ในอากาศยานทำงานผิดพลาดได้ด้วย



จึงอาจสรุปได้ว่า หากสภาวะอากาศไม่เหมาะสม มีลมฝนพายุแปรปรวน ก็ไม่ควรทำการบิน ไม่ว่าจะเป็นอากาศยานประเภทใดก็ตาม

 

— KA-32A11BC VS EC-725 —

สำหรับข้อเปรียบเทียบระหว่างเฮลิคอปเตอร์ KA-32A ของ ปภ. กับ EC-725 ของกองทัพอากาศนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่า เพราะ EC-725 นั้นเป็นเครื่องบินทางทหาร ก็ต้องดีกว่าแน่นอน แต่ความจริงแล้ว KA-32A นั้นเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ถูกพัฒนาจากเฮลิคอปเตอร์ทางทหาร KA-27 ฮีลิกเซอร์ เพื่อใช้ในภารกิจปราบเรือดำน้ำของกองทัพเรือสหภาพโซเวียต

และคุณลักษณะของระบบขับเคลื่อนของ KA-27 ในปัจจุบันนั้น แทบจะไม่แตกต่างจาก KA-32A11BC มากนัก โดยมีเครื่องยนต์แบบเทอร์โบชาร์ฟ ขนาด 2,220 แรงม้า 2 เครื่องเป็นตัวขับเคลื่อนใบพัด 

 

แต่ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ KA-32A11BC นั้นถูกออกแบบมาเพื่อภารกิจดับไฟป่า และการกู้ภัย จึงมีการติดตั้งถังเก็บน้ำขนาด 2,650 ลิตร เอาไว้ใต้ท้องเครื่อง อีกทั้งยังมีเครื่องสูบและพ่นน้ำ สำหรับภารกิจการดับเพลิงในป่าและอาคารสูงเอาไว้อีกด้วย

 

แต่สำหรับเฮลิคอปเตอร์แบบ EC-725 ของกองทัพอากาศนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อภารกิจการขนส่งทางยุทธวิธี ที่ถึงแม้จะใช้เครื่องยนต์เทอร์โบชาร์ฟ ขนาด 2,382 แรงม้า 2 เครื่องยนต์ มีกำลังใกล้เคียงกับ KA-32A11BC จึงอาจจะดูแล้วไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก

 

อย่างไรก็ตาม เครื่องบินทั้ง 2 แบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อภารกิจที่แตกต่างกัน โดย EC-725 นั้นถูกออกแบบมาเพื่อภารกิจการค้นหาและกู้ภัยในสนามรบ อุปกรณ์ และคุณลักษณะของตัวเครื่องจึงมีความแตกต่างจาก KA-32A11BC มาก

 

โดย KA-32A11BC นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อภารกิจการดับไฟ และการกู้ภัยในระดับทั่วไป จึงมีพื้นที่บรรจุในห้องโดยสารน้อยกว่า โดยสามารถจุผู้โดยสารได้เพียง 13 คนเท่านั้น ในขณะที่ EC-725 นั้นสามารถบรรจุผู้โดยสารได้มากถึง 28 คน

 

และถึงแม้ว่า KA-32A11BC จะถูกปรับปรุงมาจาก KA-27 ซึ่งเป็นเครื่องบินทางทหาร แต่มันได้ถูกลดคุณสมบัติบางอย่างที่ไม่จำเป็นสำหรับกิจการพลเรือนลงไป ในขณะที่ EC-725 ยังคงคุณสมบัติทางทหารเอาไว้อย่างครบครัน

 

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า อากาศยานแต่ละชนิด ถูกออกแบบมาด้วยวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน จึงมีขีดความสามารถในการทำงานที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถที่จะใช้เปรียบเทียบกันได้ แต่ในยามที่ประเทศเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ ประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องระดมทุกทรัพยากรที่มีมาใช้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำอุปกรณ์และกำลังทหารเข้ามาร่วมในภารกิจด้วย

การใช้ทหารในภารกิจการกู้ภัยขนาดใหญ่ ถือเป็นหลักปฎิบัติที่ทุกประเทศต่างก็ใช้กัน ตัวอย่างเช่นในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีหน่วย ปภ. ที่มีขีดความสามารถสูง และมีหน่วยกู้ภัยพิเศษสำหรับภารกิจกู้ภัยที่มีความยากสูงก็ตาม แต่สุดท้ายก็มีกำลังไม่มากพอ จึงต้องใช้กองกำลังป้องกันตนเองเข้ามาร่วมในภารกิจการกู้ภัยขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน

 

— ทำไม EC-725 ไปถึงได้ก่อน —

 

ส่วนสาเหตุที่ EC-725 สามารถเข้าปฎิบัติภารกิจกู้ภัยที่เชียงรายได้ก่อนนั้น เนื่องจากว่า EC-725 ลำดังกล่าวนั้นอยู่ในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุอยู่แล้ว และทำการขึ้นบินในสภาวะอากาศที่พร้อม ในขณะที่ EC-725 ลำอื่นของกองทัพอากาศ ก็ทำการขึ้นบินในสถาวะอากาศที่เหมาะสม และบินในเส้นทางที่มีความปลอดภัย

เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอากาศยานขั้นเทพเพียงไร หากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ก็ไม่ปลอดภัยหากจะฝืนทำการขึ้นบินเช่นกัน 

 

ต้องไม่ลืมว่า ก่อนที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้นั้น นักกู้ภัยจะต้องปลอดภัยก่อน หากฝืนบังคับให้นักกู้ภัยออกปฎิบัติการในสภาวะที่เสี่ยงตาย ประเทศไทยนอกจากจะต้องสูญเสียบุคลากรอันมีค่า พร้อมกับงบประมาณที่หายไปโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ผู้คนที่รอรับความช่วยเหลือ ก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกด้วย

 

ศิราวุธ ภุมมะกสิกร: คอลัมนิสต์ The Structure




เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า