ยุโรปยินดีจัดเงินกู้ให้ยูเครน หากสหรัฐฯ ถอนการช่วยเหลือ โดยนำทรัพย์สินของรัสเซียที่ยึดไว้จำนวน 1.69 ล้านล้านมาใช้
เมื่อเดือน มิ.ย. กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 ซึ่งประกอบไปด้วย อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มีมติเห็นชอบให้นำรายได้จากทรัพย์สินของรัสเซียที่ถูกอายัดไว้มาเป็นเงินกู้ให้แก่ยูเครนจำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.69 ล้านล้านบาท)
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะจัดสรรเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (6.79 แสนล้านบาท) ให้กับยูเครน โดยสหราชอาณาจักร แคนาดา และญี่ปุ่นจะรับผิดชอบในส่วนที่เหลือ
Politico รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (5 ธ.ค.) ว่าสหภาพยุโรปยินดีที่จะจัดสรรเงินกู้ในส่วนของสหรัฐฯ ให้กับยูเครน สำหรับซื้ออาวุธทำสงครามกับรัสเซีย และซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหาย หากสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงเงินกู้ดังกล่าว
“มีความเสี่ยงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะถอนตัวจากข้อตกลงเงินกู้ 5 หมื่นล้านดอลลาร์” พาเวล คาร์โบว์นิก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของโปแลนด์ กล่าว พร้อมเรียกร้องให้ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ชี้แจงจุดยืนของตน เพื่อให้สหภาพยุโรปมีเวลาในการพัฒนาแผนฉุกเฉิน
คาร์โบว์นิก แสดงความเห็นดังกล่าว หลังจากที่ ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันพุธ (4 ธ.ค.) ได้ปฏิเสธคำขอของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในการรวมเงินช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเติมจำนวน 24,000 ล้านดอลลาร์ (8.15 แสนล้านบาท) ในร่างกฎหมายงบประมาณ
“เรามีประธานาธิบดีคนใหม่ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้ง เราจะรอและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่เกี่ยวกับเรื่องทั้งหมดนี้ ดังนั้น ผมจึงไม่คาดหวังว่าจะมีเงินทุนสำหรับยูเครนเกิดขึ้นในตอนนี้” จอห์นสัน กล่าว
(1 ดอลลาร์ = 33.98 บาท)