
กูรูเศรษฐศาสตร์ชี้ นโยบายเก็บภาษีกำไร เสี่ยงทำทุนหดหาย ธนาคารขนาดใหญ่หยุดเพิ่มการปล่อยกู้แล้ว ควรเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็น 8% หรือ 10 %
29 พ.ค. 66 จัดอภิปรายหัวข้อ “ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันคึกฤทธิ์ และมี ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร (KKP) เป็นหนึ่งในผู้อภิปราย
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา สะท้อนความรู้สึกของประชาชนว่า เศรษฐกิจขยายตัวช้า และมีการพูดกันบ่อยๆ ว่า รวยกระจุก จนกระจาย ซึ่งทำให้พรรคก้าวไกลที่มีนโยบายเศรษฐกิจโดยสรุป 2 ข้อว่า การทลายระบบทุนผูกขาด และรัฐสวัสดิการ เป็นการเก็บเงินภาษีจากคนรวย เพื่อช่วยคนจน ให้ความเหลื่อมล้ำลดลง ทำให้ได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 1
อย่างไรก็ดี จากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ รายจ่ายส่วนใหญ่ 6.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มคนแก่ 4.2 แสนคน และเด็ก 1 แสนคน จะต้องใช้เงินภาษีค่อนข้างมาก และนโยบายส่วนใหญ่เป็นการเก็บภาษีจากคนรวย ได้แก่ ภาษีความมั่งคั่ง, ภาษีที่ดินรายแปลง, ภาษีบุคคลทุนใหญ่ และการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี
อย่างไรก็ดี การเก็บภาษีจากกำไร อาจทำให้การลงทุนในภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีในบริษัทใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วยหรือไม่ และการเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น และเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น ภาษีความมั่งคั่ง ทุกอย่างเหล่านี้ไม่มากก็น้อยจะกระทบผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งอาจทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจขาดความต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกัน ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้นนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างจะเร็วและแรง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินคาด
“ในยุคที่ทุนมีราคาแพงขึ้น แต่จะเก็บภาษีกำไรเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้การลงทุนลดลง และหากจะเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นด้วย ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนขึ้นไปอีก และหากน้ำมันยังแพงอยู่ต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้นอีก
ฉะนั้น จึงมีคำถามว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมั่นใจได้หรือว่าเดินต่อไปได้ในภาวะเช่นนี้”
ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นแนวทางที่ดี เพราะการขึ้น VAT อีก 1% ก็จะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 80,000 ล้านบาท หากขึ้น VAT เป็น 10% ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เลย อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนน้อยที่สุด
นอกจากนี้ตามกฎหมายการเก็บภาษี VAT อยู่ที่ 10% (บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 80) แต่ปัจจุบันมีการลดอัตราภาษี VAT ลงมาเหลือ 7% (ปัจจุบันมีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว 8 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดขยายขอบเขตเวลาถึง 30 ก.ย. 66)
เกียรตินาคินภัทร ได้รวบรวมข้อมูลธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศไทย ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่าธนาคารขนาดใหญ่ได้หยุดเพิ่มการปล่อยกู้แล้ว สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าธนาคารเริ่มระวังตัวแล้ว ด้านเครดิตบูโรก็ออกเตือนว่า มีหนี้ที่เป็นหนี้เสียของรายย่อย 9 แสนล้านบาท และมีหนี้ที่มีความเสี่ยง มีกำลังจ่ายดอกเบี้ยได้ไม่คงเส้นคงวา อีกประมาณ 6 แสนล้านบาท รวมกันแล้ว 15 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ จากข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย พบว่าไทยไม่สามารถดึงเงินทุนจากต่างประเทศได้ดีเท่าประเทศคู่แข่ง จากช่วงต้นศตวรรษแรกของศตวรรษนี้ เคยดึงเข้ามาได้ 40% ปัจจุบันเหลือเพียง 8.9%
“ตอนนี้จะมีการยื้อแย่งเงินทุนที่เข้ามา แต่ก็ไม่ง่าย เพราะประเทศอื่นก็ต้องการเช่นเดียวกัน และทรัพยากรพื้นฐานของประเทศคู่แข่งก็ดีกว่าเรา เช่น ตลาดเวียดนามใหญ่กว่า แรงงานก็มีมากกว่า เป็นต้น”