
วิกฤติบริษัท EA ความเสี่ยงในการบริหารการเงินของบริษัท ที่ทำให้ขาดความน่าสนใจในการลงทุน
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กลายเป็นจุดสนใจในวงการธุรกิจ ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) การกล่าวโทษนายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล ซึ่งเป็นกรรมการและผู้บริหาร EA ว่าร่วมกันกระทำการทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้แก่ตนเอง และ/หรือผู้อื่น ทำให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยเสียหาย เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2567 [1]
ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทฯ ดิ่งลงอย่างหนักนับตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่ ก.ล.ต. ประกาศขึ้นเครื่องหมาย “H” “SP” [2] [3] [4] และถึงแม้ว่าในวันที่ 16 ก.ค. ก.ล.ต. จะปลดเครื่องหมาย “SP” ให้บริษัท [5] แต่ราคาหุ้นของบริษัทก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย
นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่า GULF อาจจะเข้ามาลงทุนใน EA แต่ GULF ออกมาปฏิเสธข่าวในทันทีว่าบริษัท ไม่มีความสนใจที่จะร่วมลงทุน [6] ทั้ง ๆ ที่ EA เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจพลังงานที่เคยรุ่งเรือง และมีความน่าสนใจ แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ปลาใหญ่ในวงการอย่าง GULF จะเข้ามาเทคโอเวอร์
อะไรเป็นปัจจัยให้ GULF ปฏิเสธโอกาสชิ้นงามนี้ ?
— ย้อนอดีตวันวานที่เคยรุ่งเรืองของ EA —
EA จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในปี 2551 โดยเริ่มต้นในธุรกิจการผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล ก่อนที่จะเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนในปี 2554 โดยเริ่มต้นจากการรับสัมปทานโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้แรงหนุนจากนโยบายด้านพลังงานสะอาดของรัฐบาล
โชคของ EA ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554 สร้างโอกาสให้บริษัทสามารถเจรจาขอขยายระยะเวลาการก่อสร้าง และย้ายสถานที่ก่อสร้างออกไปได้ อีกทั้งการเข้ามาของแผงโซลาร์เซลล์ และวัสดุก่อสร้างราคาถูกจากจีน ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างของ EA ลดลง สามารถทำกำไรได้มากขึ้น
อีกทั้ง EA ยังอาศัยการเป็นผู้เล่นที่มีโครงการขนาดใหญ่อยู่ในมือ จึงสามารถสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการทำโครงการได้ทีละมาก ๆ ทำให้มีอำนาจในการจัดซื้อที่สูง จึงสามารถทำราคาเสนอโครงการได้ในราคาที่ถูกกว่ารายอื่นในตลาด
— ความเสี่ยงของ EA ในภาคการเงิน –
ในภาคธุรกิจโรงไฟฟ้า เนื่องจากโครงการนั้นมีขนาดใหญ่มาก จำเป็นที่จะต้องใช้วงเงินกู้ที่สูง สร้างภาระหนี้สินที่สูงมากต่อตัวบริษัทผู้ดำเนินโครงการ หากใช้วิธีการกู้เงินทั่ว ๆ ไป ทำให้บัญชีงบดุล (Balance Sheet) ของบริษัท ดูเหมือนมีภาระหนี้ที่สูง
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเลือกวิธีการระดมเงินทุนจากการกู้ยืมระยะยาว (Project Finance) ซึ่งวิธีการนี้ตัวโครงการจะถูกค้ำประกันไว้กับทางสถาบันการเงิน ถ้าหากมีการผิดสัญญาชำระหนี้ ทางผู้ให้กู้ก็มีสิทธิ์เข้าครอบครองโครงการเพื่อมาบริหารจัดการต่อหรือขายทอดตลาด
โดยผู้กู้จะจดทะเบียนนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) เพื่อการบริการจัดการโครงการ โดยใช้สิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน สัญญา ใบอนุญาต หรือสิทธิ์บนทรัพยากรต่างๆ เป็นหลักทรัพย์จำนอง ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนอาจจะไม่ต้องมีการันตีให้กับทางผู้กู้ (non-recourse) หรืออาจจะการันตีบางส่วน (limited recourse) ก็ได้
อีกทั้งการทำ Project Finance ในลักษณะนี้ ยังง่ายและสะดวกในการบริหารบัญชีการเงิน เนื่องจากมีการแยกบัญชีบริหารอย่างชัดเจนอีกด้วย
แต่ EA กลับเลือกที่จะไม่ใช้วิธี Project Finance อีกทั้งยังมีการนำโรงไฟฟ้าหลาย ๆ โครงการไปผูกเข้าด้วยกัน เพื่อการเพิ่มความสามารถในการลงทุน (leverage) แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (cross default) ซึ่งทำให้เมื่อผิดนัดชำระหนี้กับเจ้าหนี้รายหนึ่งรายใด ก็จะถือว่าผิดนัดกับเจ้าหนี้รายอื่นไปด้วย
— สถานการณ์ของ EA ในปัจจุบัน —
สถานการณ์ทางการเงินของ EA ในเวลานี้ ถือได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ (default) และการที่ EA มิได้บริหารการเงินในรูปแบบ Project Finance จึงทำให้ยากต่อการสางปมในโครงการที่อาจจะมีปัญหา อีกทั้งภาระหนี้ถูกผูกเข้ากับบริษัทแม่ จึงทำให้ยากต่อการแก้ไขปัญหาทางการเงิน
นอกจากนี้ ในการดำเนินงานในโครงการตามนโยบายรัฐที่ผ่านมาของ EA บริษัทฯ ยังไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้อย่างชัดเจนได้ว่าบริษัทมีนวัตรกรรม (Innovation) ตามที่ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในงานสัมมนา หรือบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ ได้
ทั้งนี้ EA จะสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตินี้ไปได้หรือไม่นั้น EA จะต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่ามีนวัตรกรรม และขีดความสามารถในการดำเนินโครงการให้จบ ไปพร้อม ๆ กับการบริหารการเงินของแต่ละโครงการ
อ้างอิง
[1] https://weblink.set.or.th/dat/news/202407/1118NWS150720240633090195T.pdf
[2] https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/EA/price
[3] https://weblink.set.or.th/dat/news/202407/0000NWS150720240921120572T.pdf
[4] https://weblink.set.or.th/dat/news/202407/0000NWS150720241339190769T.pdf
[5] https://weblink.set.or.th/dat/news/202407/0000NWS160720240844220015T.pdf