มาเลเซียแซงไทย ยอดผลิตรถขายในประเทศ ส.อ.ท.ชี้สาเหตุมาจากหนี้เสีย (NPL) จากการปล่อยกู้ ทำให้ธนาคารทุกแห่งปล่อยสินเชื่อยากขึ้น
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกำลังมีปัญหา ปริมาณการผลิตรถยนต์ใน 4 เดือนแรกของปีลดลงเหลือ 518,790 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 17.05%
ซึ่งเป็นผลสะท้อนที่มาจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำลง ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลมมาหลายเดือน กำลังซื้อยังเปราะบาง และงบประมาณปี 67 ที่ล่าช้า ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหายไป จนประเทศต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว
สำหรับยอดการจองรถรถยนต์นั่ง และ รถกระบะใน 4 เดือนแรกของปีนั้น ลดลงไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากในปีที่ผ่านมา มีการก่อหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ (NPL) ในกลุ่มรถยนต์มีสัดส่วนที่สูง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ กระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ
ซึ่งนี่ทำให้เชื่อได้ว่าในปีนี้มีโอกาสสูงที่ประเทศไทยจะมียอดขายรถยนต์ในประเทศลดลงเหลือ 7 แสนคัน จากปกติ 8 แสน – 1 ล้านคัน ร่วงลงจากอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอันดับที่ 3 ปล่อยให้มาเลเซียซึ่งมียอดขายประมาณ 8 แสนคันต่อปีขึ้นแซง ในขณะที่อันดับ 1 ยังคงเป็นอินโดนีเซีย ที่มียอดขายในประเทศ 1 – 1.2 ล้านคัน
อย่างไรก็ดี สถานการณ์น่าจะดีขึ้นในไตรมาส 3 ตลาดโดยรวมจะฟื้นตัวมากขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ประกอบกับงบประมาณปี 67 เริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนอีกครั้ง
ทั้งนี้ ยอดการผลิตเมื่อปีที่แล้วสามารถทำได้ดีกว่าเป้าหมาย จากเดินที่มีการตั้งเป้าการส่งออกเพียง 1.05 ล้านคัน แต่สามารถส่งออกได้มากถึง 1.13 ล้านคัน สามารถทำได้ดีจนสามารถชดเชยยอดการผลิตเพื่อใช้ในประเทศได้
อีกทั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งประเทศไทยเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังมียอดการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกถึง 1.054 คัน สะท้อนให้เป็นว่าตลาดนอกประเทศไม่มีปัญหา และคาดว่าปีนี้ ไทยจะสามารถส่งออกรถได้มากกว่า 1.15 ล้านคัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตามองก็คือกำลังซื้อภายในประเทศ