
การพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development หลักเกณฑ์ของการพัฒนาที่สวยหรูทั้ง 17 ประการ สุดท้ายแล้วเป็นเป้าหมายเพื่อใครกันแน่ ?
หลายสัปดาห์ก่อนมีคนมาขอให้ผู้เขียนอธิบายถึงความหมายของคำว่า ‘Sustain’ ‘Sustainable’ และ ‘Sustainability’
ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วคำทั้งสามคำนี้มีความหมายใกล้เคียงจนถึงขั้นจะเหมือนกันเพียงแต่ผันกันไปตามรูปแบบของคำ
และถ้าจะให้ตอบอย่ากำปั้นทุบดิน ก็คือ Sustain’ เป็นคำกิริยา ‘Sustainable’ เป็นคำวิเศษณ์ ‘Sustainability’ เป็นคำนาม
แต่ถ้าจะให้ความหมายที่ชัดไปกว่านั้น Sustain = ยั่งยืน ‘Sustainable’ = อย่างยั่งยืน และ ‘Sustainability’ = ความยั่งยืน
ส่วนนิยามโดยรวมนะหรือ คงพูดได้ว่าเป็นการพัฒนาอะไรก็ได้ ใช้ทรัพยากรอย่างไรก็ได้ ที่ไม่ทำลายระบบนิเวศน์และไม่ก่อให้เกิดปัญหากับคนรุ่นหลัง
แล้วถามว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับคำเหล่านี้
อันที่จริงแล้ว “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” มีจุดกำเนิดครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 ซึ่งในปีนั้นได้มีการก่อตั้งคณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ หรือคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ซึ่งเป็นผลพวงมาจากข้อมติของสหประชาชาติเกี่ยวกับการเตรียมตัวด้านสภาวะสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทุกประเทศได้ตระหนักถึงวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยเกินขีดจำกัดของมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงชนรุ่นหลัง โดยเรื่องราวเล่านี้อาจพูดได้ว่าเป็นผลพวงมาจากความรุ่งเรืองของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
ดังนั้น ในปี ค.ศ. 2000 จึงได้มีการประกาศเจตนารมณ์เรื่อง Agenda 21 ออกมาเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรให้ยั่งยืนมากที่สุด แน่นอนว่าในช่วงแรกเน้นหนักไปทางการจัดการสภาพแวดล้อม ที่คุ้นคุ้นคุ้นตามากที่สุดก็คือแนวทางที่จะลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ที่จะส่งผลให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งหากจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องหยุดการดำเนินการใด ๆ ที่ใช้น้ำมัน หรือเตาเผาถ่านหินที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะทำให้เกิดรูโหว่ในชั้นโอโซน ส่งผลให้เกิดความร้อนมากขึ้น
แต่แล้วยังไง เมื่อครั้งนั้นเรื่องพวกนี้ยังไกลตัว โลกร้อนขึ้น ก็เปิดแอร์ โดยไม่ได้ขึ้นเลยว่าการกระทำเช่นนั้นก็ยิ่งทำให้ต้องผลิตไฟฟ้ามารองรับการใช้พลังงานมากยิ่งขึ้น เป็นวัฏจักรต่อเนื่องกันไปไม่รู้จบ ยังไม่ต้องพูดถึงการทำลายระบบนิเวศน์อื่น ๆ เช่น หมีขาวไม่มีที่อยู่ ปลาตายเพราะเรือประมงปล่อยน้ำมันลงทะเล
เมื่อนั้น คนทั่วไปก็เริ่มให้ความสนใจ แต่ถามว่าผู้ประกอบการล่ะ พิจารณาถึงทางเลือกหรือยัง ก็คงต้องพูดได้ว่ายังเพราะว่าพลังงานทางเลือกอื่น ๆ นั้นมีต้นทุนสูง
ในขณะเดียวกันผู้กำหนด Roadmap ของโลกก็พัฒนาองค์ความรู้ไป พร้อมกับหามาตรการมากำกับการดำเนินการเพื่อพยุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้พังพินาศไปมากกว่าที่เป็นอยู่
จนในวันนี้กลายมาเป็น หลักเกณฑ์ SDGs 17 ประการ ที่ไม่ได้มุ่งสร้างความยั่งยืนเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม หากแต่แสวงหาความสมดุลให้ทุกมิติของโลก เพื่อให้ทุกด้านพัฒนาไปในมาตรฐานเดียวกัน สู่จุดหมายเดียวกัน ซึ่งนั่นก็คือความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องความยากจน เรื่องสุขภาพอนามัย ฯลฯ
นอกจากแนวทางการดำเนินการที่เป็นคู่มือให้ชาวโลก หลาย ๆ องค์การก็ยังออกกฎ ออกระเบียบควบคุมการประกอบการกลาย ๆ เช่น หากผลิตภัณฑ์ของคุณไม่ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตจะไม่สามารถจำหน่ายได้
ตัวอย่างที่ผู้เขียนพบแล้วนึกขำหลายประการ เช่น เมื่อบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่งยินดีที่จะลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นพลังงานสะอาดในประเทศไทย แต่ขอให้ส่งเข้านิคมที่เป็นโรงงานผลิตรถยนต์ของฝ่ายนั้นโดยใช้สายส่งเดิมที่มีอยู่
หรือแม้แต่การส่งเสริมให้มีการใช้รถไฟฟ้า โดยที่ผู้เขียนเองได้มีประสบการณ์เยี่ยมชมโรงงานผลิต ที่ยังพบว่าในกระบวนการนั้นต้องมีการใช้ไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้าที่ใช้ก็เกิดมาจากการปั่นด้วยน้ำมันหรือถ่านหิน แม้กระทั่งรถพ่วงที่ขนส่งรถไฟฟ้าเหล่านั้นไปขาย ก็ยังเป็นรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันในการสันดาปเครื่องยนต์
มาอีหรอบนี้ เหมือนว่าทำไปเพื่อให้ตัวเองขายของได้เหมือนเดิม ไม่มีอะไรที่เป็นพลังงานสะอาด ไม่มีอะไรที่ทำเพื่อโลกได้สมบูรณ์อย่างแท้จริง
ที่หนักหนากับจิตใจผู้เขียนมากที่สุด เมื่อครั้งที่ผู้นำระหว่างประเทศบินไปร่วมลงนามในการประชุม Cop 26 ที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส และมีเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุ Net Zero หรือ “Net zero emissions” หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทั่วโลกภายในปี 2050
ผู้นำทุกท่านนั่งเครื่องบินไป บ้างด้วยสายการบินพาณิชย์ บางด้วยเครื่องบินส่วนตัว ไม่ต้องนับว่าขบวนรถที่ยาวยืดวิ่งว่อนกันให้ทั่วเมือง
สิ่งนี้ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า ดูเหมือนว่าพิธีกรรมจะสำคัญมากกว่าเป้าหมาย
เรื่องราวที่สะท้อนใจได้อย่างแสลงใจที่สุดก็คือในขณะที่คนตัวเล็ก ๆ พยายามแยกขยะ ปั่นจักรยาน ลดการใช้ไฟฟ้า เปลี่ยนตัวเองมาใช้ถุงผ้า
แต่คนตัวใหญ่ที่ควรจะมีอิทธิฤทธิ์ในการทำเรื่องนี้ให้สำเร็จมากที่สุด กลับเหมือนลงนามให้จบ ๆ ไป แล้วก็ขึ้น Private Jet กลับบ้านเหมือนเดิม
คงเป็นเราแล้วล่ะ ที่ต้องพิจารณาว่าจะฝากความหวังของโลกไว้ในสนธิสัญญาต่าง ๆ หรือว่าจะวางเรื่องความยั่งยืนไว้เป็นเพียงความฝัน
เพราะท้ายที่สุดแล้วคำว่า Sustainable Development อาจจะกลายเป็นแค่ Sustainable Dreams ก็เท่านั้นเอง
ดร.ณพรรษธ์สรฌ์ เสมสันต์
นักวิชาการอิสระ