วิโรจน์เสนอให้ใช้กำลังทหารต่อเมียนมา กับคำถามที่ว่า ไทยมีความชอบธรรมเหมือนที่เคยเปิด ‘ปฎิบัติการโปเชนตง’ ต่อกัมพูชาหรือไม่?
ผ่านไปแล้วเกือบ 2 สัปดาห์ที่กองทัพเรือเมียนมาจับเรือประมงไทยที่ทางการเมียนมากล่าวอ้างว่าได้รุกล้ำน่านน้ำของฝ่ายเมียนมาก่อน ซึ่งในจำนวนนั้นมีชาวไทยที่ถูกจับกุมไว้ 4 คน และดูเหมือนว่าจะยังไม่มีท่าทีที่ทางการเมียนมาจะปล่อยตัวชาวไทยกลุ่มนั้นกลับมา
ทำให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม แสดงภาวะผู้นำออกมาให้ชัดเจนเพื่อนำลูกเรือไทยทั้ง 4กลับมา อีกทั้งยังระบุผ่าน X ว่า
“หากจำเป็น ก็ควรต้องนำเอาปฏิบัติการโปเชนตง ที่รัฐบาลช่วยคนไทยกลับจากกัมพูชาจากเหตุการณ์เผาสถานทูตไทย มาประยุกต์ใช้”
ปฏิบัติการโปเชนตงคืออะไร ?
ปฏิบัติการโปเชนตง เป็นปฎิบัติการทางทหาร ที่นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สั่งการให้ทหาร 3 เหล่าทัพ ใช้กำลังกับกัมพูชา เพื่อการตอบสนองต่อเหตุการณ์จลาจลในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในช่วงเดือนมกราคม 2546
ซึ่งเหตุการณ์จลาจลดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นจากการปล่อยข่าวปลอมในกัมพูชา ว่าดาราไทยชื่อดังคนหนึ่งอ้างว่านครวัดเป็นของประเทศไทย ซึ่งสื่อมวลชนของกัมพูชาต่างก็ช่วยกันโหมกระแสดังกล่าวนี้ จนสร้างความโกรธแค้นให้กับมวลชนชาวกัมพูชา
มีการประท้วงและบุกเผาสถานทูตไทยและมีการปล้นสะดมทรัพย์สินของธุรกิจไทยในกัมพูชา ทำให้ประชาชนชาวไทยในกัมพูชาตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายที่อาจจะถึงแก่ชีวิต ท่ามกลางความโกรธแค้นของชาวกัมพูชา ในขณะที่สมเด็จฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในเวลานั้น ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้เลย
รัฐบาลไทย สั่งการให้เริ่มปฏิบัติการโปเชนตงอย่างเร่งด่วน โดยปฎิบัติการในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือโปเชนตง 1 และโปเชนตง 2 โดยโปเชนตง 1 นั้น กองทัพอากาศไทยส่งเครื่องบินลำเลียง 6 ลำ พร้อมทหารหน่วยรบพิเศษจากกองทัพบก และกองทัพอากาศ บินไปลงจอดที่สนามบินโปเชนตงของกัมพูชา ซึ่งคนไทยในกัมพูชาได้รับการนัดหมายให้ไปรวมตัวกันที่นี่
เมื่อถึงที่หมาย หน่วยรบพิเศษไทยได้เข้ายึดและควบคุมสนามบินเอาไว้ เพื่อคุ้มกันคนไทยให้สามารถขึ้นเครื่องบินลำเลียงได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่กองทัพอากาศได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 เอาไว้ 2 ฝูงบิน ในกรณีที่กองทัพกัมพูชาไม่ยินยอมให้เครื่องบินของไทยเข้าสู่น่านฝ่า
โชคดีที่ภารกิจทั้งหมดสำเร็จลุล่วง เรือหลวงจักรีนฤเบศวร พร้อมเรือฟรีเกตจากกองเรือยุทธการ กองทัพเรือ อีก 4 ลำ ที่เดินทางไปจอดลอยลำในอ่าวไทย เพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับปฎิบัติการโปเชนตง 2 จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่ภารกิจ จึงไม่มีการเปิดเผยว่ารายละเอียดของปฎิบัติการโปเชนตง 2 นั้นเป็นอย่างไร แต่มีข่าวลือกันว่า กองทัพเรือได้เตรียมขีปนาวุธเต็มอัตราศึกเอาไว้ เผื่อต้องใช้ในการยิงถล่มกรุงพนมเปญ
ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเปิดปฏิบัติการที่ใช้กำลังทหารต่อเมียนมาหรือไม่
จากสถานการณ์ในปี 2546 ข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่า รัฐบาลไทยมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการเปิดปฏิบัติการในครั้งนี้ อีกทั้งภายหลังปฎิบัติการ นานาชาติไม่ได้ตำหนิการใช้กำลังของรัฐบาลไทย
เนื่องจากว่าปฎิบัติการทั้งหมดนั้น มีจุดมุ่งหมายในการปกป้องชีวิตของคนไทย จากสถานการณ์การจลาจลที่บ้าคลั่งภายในกรุงพนมเปญ จนรัฐบาลกัมพูชาไม่สามารถให้การรับรองความปลอดภัยในชีวิตของคนไทยได้
รัฐบาลไทยในเวลานั้น มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการใช้กำลัง อีกทั้งในปฎิบัติการในครั้งนี้นั้น มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 นาย คือนายทหารเรือไทยที่โดยสารไปกับเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือ ซึ่งประสบอุบัติเหตุเครื่องตกที่จันทบุรี ในระหว่างเดินทางกลับจากภารกิจ แต่กองทัพไทยสามารถให้ความช่วยเหลือคนไทยเอาไว้ได้ร่วม 700 คน
แต่เหตุการณ์ที่ทางการเมียนมาจับลูกเรือประมงชาวไทยเอาไว้นั้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่ทราบว่าจะได้กลับเมื่อไร แต่ก็ถือได้ว่าลูกเรือเหล่านั้น ยังมีความปลอดภัยอยู่ อีกทั้งในกรณีนี้นั้น อาจจะกล่าวได้ว่าลูกเรือประมงเหล่านั้นอาจจะเป็นฝ่ายที่กระทำความผิดกฎหมายของเมียนมาก่อนด้วย
นี่จึงเป็นคำถามว่า ประเทศไทยมีความชอบธรรม และมีคำอธิบายต่อนานาชาติ ถ้าหากว่ารัฐบาลตัดสินใจใช้กำลังในครั้งนี้หรือไม่ ?