ย้อนรอยเหตุประท้วงก่อน วางระเบิดรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ที่สงขลา และมีการข่มขู่ประชาชนในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้
จากกรณีที่มีการลอบวางระเบิดบริเวณที่พักคนงานก่อสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ใน ต. สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อเช้าวานนี้ (20 พ.ย. 2567) ด้วยลูกระเบิด M79 2 ลูก จนทำให้มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเด็กหญิงอายุ 9 ปีด้วยนั้น
มีการพบใบปลิวเป็นข้อความภาษาไทยและภาษาเมียนมาซึ่งระบุว่า “ถ้าใครที่ทำงานในโครงการนี้ ที่นี่ และในสามจังหวัดชายแดนใต้ เราขอเตือน จงหยุด ไม่งั้นเราจะไม่รับรองชีวิตของท่าน”
และหลังจากนั้น เกิดเหตุระเบิดครั้งที่ 3 และ 4 ในช่วงเวลาประมาณ 10 – 11 นาฬิกา ที่บริเวณเส้นทางไปยังที่เกิดเหตุ ห่างจากจุดระเบิดแรก 400 เมตร แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
พ.อ.ปองพล สุทธิเบญจกุล รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่าการก่อเหตุในครั้งนี้นั้น ผู้ก่อเหตุพยายามที่จะทำลายรูปเคารพทางศาสนา ทำลายสัญลักษณ์ความเป็นพหุวัฒนธรรม เพื่อการสร้างสังคมเชิงเดี่ยว
และที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 สน. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนมาโดยตลอด
สำหรับโครงการก่อสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมนั้น เป็นการดำเนินการโดยบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ลงทุนซื้อที่ดิน 65 ไร่ เพื่อสร้างเป็นแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้แล้ว ยังสามารถเป็นสัญลักษณ์ของสังคมพหุวัฒนธรรมของภายใต้ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดีในช่วงปี 2565 ซึ่งมีข่าวการดำเนินโครงการนี้นั้น ได้มีกลุ่มชาวมุสลิมใน อ.เทพา จ.สงขลา ราว 4,000 คน ออกมารวมตัวกันละหมาดฮายัตเพื่อคัดค้านสร้างเจ้าแม่กวนอิมดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ได้มีการออกมาโต้แย้งการกระทำของกลุ่มคนดังกล่าวว่า ถึงแม้ว่าในตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาจะมีประชากรชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ถึงกว่า 65% แต่ก็มีชาวพุทธอยู่อาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 35% ด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีเจดีย์ทางพุทธศาสนาในพื้นที่ ซึ่งมีประวัติยาวนานย้อมไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ก่อนการเกิดเหตุ 6 วัน คือในวันที่ 14 พ.ย. บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดพิธีพุทธาภิเษกเจดีย์สัมฤทธิ์ผลคุ้มลูกกันภัย ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง โดยมีคณะผู้บริหารบริษัทเข้าร่วมพิธี
พร้อมทั้งยังได้เชิญพล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 และนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทย รวมถึงข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
อีกทั้งภายหลังการเกิดเหตุ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา และแกนนำคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ กล่าวว่าแม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยมีกระแสคัดค้านในกลุ่มชาวบ้าน แต่กระแสดังกล่าวได้แผ่วเบาลงไปแล้ว เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่าเป็นสิทธิ์ของนายทุนในการก่อสร้าง