
ยุโรปลดนำเข้ากาแฟแอฟริกา เหตุเข้าข่ายไม่ผ่านกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า ที่จะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 30 ธ.ค. 2567
ผู้นำเข้ากาแฟไปยังสหภาพยุโรปเริ่มลดปริมาณการสั่งซื้อจากเกษตรกรรายย่อยในแอฟริกาและที่อื่นๆ ในขณะที่พวกเขาเตรียมการสำหรับกฎหมายสำคัญของสหภาพยุโรปที่จะห้ามการจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผู้นำเข้ากาแฟกล่าวว่า ต้นทุนและความยากลำบากในการปฏิบัติตามกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation : EUDR) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปี 2567 หมายความว่าได้เกิดผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจซึ่งอาจเปลี่ยนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก
ผู้นำเข้ากาแฟยังกล่าวด้วยว่า คำสั่งซื้อกาแฟจากเอธิโอเปียลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งครอบครัวเกษตรกรราว 5 ล้านครอบครัวต้องพึ่งพาพืชผลนี้ และกลยุทธ์การจัดหากาแฟที่บริษัทต่างๆ นำมาใช้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยยิ่งจนลง และทำให้ผู้บริโภคในสหภาพยุโรปต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็บ่อนทำลายผลของ EUDR ที่มีต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ด้วย
ภายใต้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation : EUDR) ผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น กาแฟ โกโก้ ถั่วเหลือง ปาล์ม วัว ไม้ และยาง และผลิตภัณฑ์ที่ใช้สินค้าดังกล่าว จะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้าของตนไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า มิเช่นนั้นจะต้องเผชิญกับค่าปรับจำนวนมหาศาล
การตัดไม้ทำลายป่าเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รองจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล
คณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า มีโครงการริเริ่มหลายโครงการที่จะช่วยให้ประเทศผู้ผลิตและเกษตรกรรายย่อยสามารถปฏิบัติตาม EUDR ซึ่งรวมถึงโครงการที่เปิดตัวในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ซึ่งสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกให้คำมั่นว่าจะให้เงินสนับสนุนจำนวน 70 ล้านยูโร (ราว 2,679 ล้านบาท)
คณะกรรมาธิการยุโรปยังระบุด้วยว่า เกษตรกรรายย่อยบางรายมองว่า EUDR เป็นโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมาพร้อมกับมาตรการสนับสนุนของสหภาพยุโรป เนื่องจากจะช่วยให้พวกเขาตอบสนองความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มาจากแหล่งที่ยั่งยืน
กาแฟคิดเป็นสัดส่วน 30-35% ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของเอธิโอเปีย โดยเกือบ 1 ใน 4 ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป
(1 ยูโร = 38.27 บาท)