
เหมือนมาจากหนังไซไฟแต่เป็นของจริงในปัจจุบัน การฝึก Cobra Gold 2025 ระหว่างไทย-สหรัฐ-พันธมิตร 10 ชาติ เพื่อรับมือภัยคุกคามไซเบอร์และอวกาศ
เมื่อวันก่อนผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมการฝึกร่วมผสมระหว่างกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐ หรือที่เรียกกันว่า COBRA GOLD ประจำปี 2025 นับเป็นโอกาสดีอย่างมากที่ได้มีโอกาสไปดูด้วยตาตัวเอง วันนี้จะมาเล่าให้ฟังครับ
COBRA GOLD คืออะไร? และ สำคัญอย่างไร?
หากจะให้พูดถึงที่มาโดยละเอียดนั้นคงต้องว่ากันยาว เอาเป็นว่าโดยสรุปสั้นๆ COBRA GOLD เป็นการฝึกร่วมทางทหารระหว่างประเทศไทยและมิตรประเทศ โดยมีไทยและสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพหลัก มีประวัติยาวนาน เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา
โดยได้มีการฝึกมาตลอดแทบทุกปี และมีชาติต่างๆที่เข้าร่วมการฝึกมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จนปัจจุบันเป็นการฝึกแบบ “พหุภาคี” หรือพูดง่ายๆว่ามีหลายชาติเข้าร่วม ไม่ใช่เฉพาะไทยและสหรัฐอีกต่อไป ซึ่งในปัจจุบันก็นับว่าเป็นครั้งที่ 44
โดยในการฝึกครั้งนี้เป็นการฝึกการรบร่วมกันระหว่างกองทัพ ไทย สหรัฐ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ที่เป็นกองกำลังหลักรวม 7 ประเทศ โดยมีประเทศที่ร่วมฝึกเพิ่มเติมอีก 3 ประเทศได้แก่ จีน อินเดีย และออสเตรเลีย
ฝึกอะไร?
ในปีนี้เป็นการฝึกที่เรียกว่า การฝึกร่วมของ “ฝ่ายอำนวยการ” หรือพูดง่ายๆว่าคือกลุ่ม “มันสมอง” ที่ทำการวางแผนการรบนั่นเอง โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือการฝึกการควบคุมบังคับบัญชา (Command and Control Exercise: C2X) การฝึกเพื่อช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance Exercise: HCA) และการฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise: FTX)
โดยไฮไลท์ของการฝึกในครั้งนี้เห็นจะเป็นการฝึกร่วมกันใน 3 ด้านสำคัญ คือการฝึกด้าน Cyber ด้านอวกาศ และด้านการช่วยเหลือประชาชน
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในการฝึกครั้งนี้เห็นจะเป็นการฝึกด้าน “ไซเบอร์” ที่เป็นการฝึกเต็มรูปแบบครั้งแรกแบบเฉพาะเจาะจง โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆในการปกป้องการโจมตีต่อสาธารณูปโภคสำคัญ อาทิ โรงไฟฟ้า สนามบิน โรงพยาบาล การติดต่อสื่อสาร เป็นต้น
ทำไมต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้?
หากมองเผินๆ สิ่งเหล่านี้อาจจะดูธรรมดาใช่ไหมครับ? แต่ความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้กลับมี “ความบอบบาง” อย่างไม่น่าเชื่อ สาเหตุสำคัญเพราะสิ่งเหล่านี้อยู่คู่กับคนในสังคมตลอดเวลา เราอาจจะอยู่กับมันจนเคยชิน แต่หากวันใดเราขาดสิ่งเหล่านี้ไป เราอาจต้องพบกับปัญหาหนักอย่างไม่น่าเชื่อ
ลองคิดดูเล่นๆว่า หากเราไม่มีไฟฟ้าใช้ทั้งเมืองสัก 5 นาที จะเกิดอะไรขึ้น? การจราจรจะเกิดความโกลาหล อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นทั่วเมือง รวมไปถึงการจราจรทางอากาศ ที่อาจะทำให้การขึ้นลงของเครื่องบินเกิดปัญหาจนกลายเป็นอุบัติเหตุขนาดใหญ่ ผู้ป่วยวิกฤติในโรงพยาบาลอาจถึงขั้นเสียชีวิตเพราะเครื่องมือต่างๆที่ต้องใช้ไฟฟ้าทำงานไม่ได้ และอื่นๆอีกมากมาย ถ้านึกไม่ออกลองดูซีรีส์ใน Netflix ที่ชื่อ Zero Day ครับ ไม่เกินจริงเลย
ความเปราะบางนี้เองที่ทำให้สาธารณูปโภคพื้นฐานเหล่านี้ กลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจริงแล้วในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งการเกิดจากความตั้งใจของประเทศอื่นอย่างในกรณีของยูเครนกับรัสเซีย หรือเกิดจากอาชญากรที่ต้องการเรียกค่าไถ่เป็นตัวเงิน
พูดกันง่ายๆว่า ชีวิตพวกเราทุกวันนี้ ง่ายขึ้น สบายขึ้น เพราะเทคโนโลยี แต่แน่นอนว่า “ที่ใดมีแสง ที่นั่นย่อมมีเงา” การโจมตีเหล่านี้ จึงเป็นเปรียบเสมือนเงาตามตัวของการพัฒนาทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน
หัวใจของการฝึกในครั้งนี้ จึงเป็นการตอบคำถามว่า “แล้วเราจะต้องทำอย่างไร” ที่จะ “ป้องกัน” ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น และจะ “แก้ไข” อย่างไรเมื่อเกิดปัญหาขึ้น
อีกด้านที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือด้าน “อวกาศ”
มองเผินๆก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ดูเหมือนหนังไซไฟ…ห่างไกลความเป็นจริง
แต่แท้จริงแล้วโลกในปัจจุบันของพวกเรา อยู่ใกล้เรื่องอวกาศมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะด้านการติดต่อสื่อสารในปัจจุบัน ดาวเทียมและโลกไซเบอร์ กลายเป็นเหมือนช้อนกับส้อมที่อยู่คู่กันและส่งเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน เช่นกัน ภัยคุกคามต่างๆ จึงมาคู่กันอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นเราจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น?
ถ้าจะตอบคำถามว่า แล้ว COBRA GOLD มีความสำคัญอย่างไร? เราได้ประโยชน์อะไรจากการฝึก?
ก็ต้องบอกแบบตรงไปตรงมาว่า ประเทศไทยของเรายังต้องการการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีในการรับมือกับภัยคุกคามในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะด้านไซเบอร์และด้านอวกาศที่กล่าวมา การฝึกร่วมในรูปแบบนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ
ตลอดจนความรู้ใหม่ๆของต่างชาติ เพื่อให้คนไทยสามารถ “ทำเป็น” เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็จะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่อึ้งทึ่งเสียวจนไปไม่เป็น นั่นเอง
อย่างไรก็ดี หนึ่งสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องเข้าใจ คือ การแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่สามารถทำได้ด้วยประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะเมื่อเกิดขึ้นผลกระทบจะกระจายเป็นวงกว้างตามธรรมชาติของโลกาภิวัตน์ที่โลกเชื่อมโยงกันแทบทุกมิติ การแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องรวมหัวกัน ทั้ง “ภายในประเทศและระหว่างประเทศ”
ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่อง “จำเป็น” แต่ก็เป็นเรื่อง “ยากมาก” เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อลงลึกไปถึงการปฏิบัติร่วมกัน เพราะทั้งการวางแผนร่วมกันและการทำงานร่วมกัน โดยกลุ่มคนที่ต่างเชื้อชาติภาษาและวัฒนธรรม…ไม่ใช่เรื่องง่าย
ลำพังคนไทยด้วยกันยังยาก นับประสาอะไรกับต่างชาติ ที่มีสารพัดกำแพงมาขวางระหว่างกัน การฝึกร่วมกันในลักษณะนี้จึง (จำเป็น) ต้องเกิดขึ้น
นับเป็นวิสัยทัศน์ที่เฉียบคมของผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ที่นำทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน นักการเมืองจากแทบทุกพรรค รวมไปจนถึงประธานกรรมาธิการทหาร (ท่าน สส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร) ให้ได้เห็น “ของจริง” ว่าความเป็นจริงของโลกแห่งความมั่นคงในปัจจุบันเป็นอย่างไร และจำเป็นต้องทำอะไรบ้าง
เป็นครั้งหนึ่งที่ได้เรียนรู้ว่า “ทหาร” ในยุคนี้มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ “technical” และเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากกว่าที่คิดหลายเท่านัก เป็นภารกิจใหม่ที่บอกได้คำเดียวว่า “ไม่ง่าย”
ถือโอกาสนี้มาถ่ายทอดสิ่งที่ได้เห็นมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน เพราะอยากให้คนไทยทุกคนเข้าใจและร่วมมือร่วมใจกันสร้างความพร้อมให้กับตัวเองและส่วนรวมในการเผชิญกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ที่เหลือก็คือการคิดต่อ ทำต่อ ร่วมกัน ทั้งภาคการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน และภาคประชาชน ว่าจะพัฒนากองทัพและประเทศของเราต่อไปอย่างไร ให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามที่ซับซ้อนในปัจจุบัน
ถ้าทุกท่านได้เห็นด้วยกันก็คงดี…เพราะเมื่อได้เห็น “ของจริง” จึงได้รู้ว่าของจริงมีสิ่งที่ในตำราไม่ได้บอกไว้อีกมาก และภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ในปัจจุบันนั้น หากเกิดขึ้นจริง มันจะเป็นสิ่งที่ “เลวร้าย” เกินจะรับไหว…จริงๆ
ร้อยเอก ดร. จารุพล เรืองสุวรรณ
ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาการทูตและการต่างประเทศ
คณะการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ